“ผู้ว่าฯกทม.” ขยายเวลาปิดสถานที่เสี่ยง “ผับ-บาร์-สนามมวย” ถึง 30 มิ.ย. สกัด “โควิด”
"ผู้ว่าฯกทม." ขยายเวลาปิดสถานที่เสี่ยง "ผับ-บาร์-สนามมวย" ถึง 30 มิ.ย. สกัด "โควิด"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (31 พ.ค.63) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว ฉบับที่ 10
โดยมีใจความว่า ตามที่ได้มีประกาศเรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร(คราวที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 และผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและขับเคลื่อนกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติม
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 จึงให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว และผ่อนปรนระยะ 3 ให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ ดังต่อไปนี้
สถานที่สั่งปิด ได้แก่
1.สถานบริการ ผับ บาร์ สถานบันเทิง และสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ
2.สวนน้ำ สวนสนุก
3.สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นสําหรับเด็กในตลาด ตลาดน้ำและตลาดนัด
4. โต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด
5.สถานที่เล่นตู้เกม
6.ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต
7.สนามชนไก่ และสนามข้อมชนไก่
8.สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ (ยกเว้นที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ)
9.สนามมวย
10.โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม)
11.สนามม้า
12.สถานประกอบกิจการอาบนํ้า
13.สถานประกอบกิจการอาบอบนวด
14.สนามแข่งขันทุกประเภท
15.สถานที่ให้บริการห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะ ทํานองเดียวกัน
และ 16.สนามชนโค สนามกัดปลา หรือสนามแข่งขันอื่นในลักษณะทํานองเดียวกัน
ส่วนสถานที่ที่ได้รับการผ่อนคลายแต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของทางราชการ ได้แก่ ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร ซึ่งไม่รวมถึงสถานบริการ ผับ บาร์ แต่ยังคงห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานที่ดังกล่าว , ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดําเนินการได้จนถึง 21.00 น.
ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ , ห้องประชุมในโรงแรมหรือศูนย์ประชุม , ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมสําหรับบุรุษหรือสตรี ให้เปิดดําเนินการโดยจํากัดเวลาการให้บริการในร้านไม่เกินรายละ 2 ชั่วโมง และต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน เป็นต้น
ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2448 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2448 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อ 4 จะถูกสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว
ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย.63 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง