สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 1 มิ.ย. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 1 มิ.ย. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (1 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นเมื่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว นอกจากนี้ ตลาดยังขานรับรายงานดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐที่ดีดตัวขึ้นในเดือนพ.ค. โดยแรงหนุนเหล่านี้ได้ช่วยสกัดปัจจัยลบจากเหตุการณ์ประท้วงรุนแรงในสหรัฐ และความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างสหรัฐและจีน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,475.02 จุด เพิ่มขึ้น 91.91 จุด หรือ +0.36% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,055.73 จุด เพิ่มขึ้น 11.42 จุด หรือ +0.38% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,552.05 จุด เพิ่มขึ้น 62.18 จุด หรือ +0.66%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (1 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตในยูโรโซน ซึ่งกระตุ้นให้นักลงทุนพากันเข้าซื้อหุ้นที่ปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 1.10% ปิดที่ 354.20 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,762.78 จุด เพิ่มขึ้น 67.35 จุด หรือ +1.43% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,166.42 จุด เพิ่มขึ้น 89.82 จุด หรือ +1.48%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (1 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลอังกฤษเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ กลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,166.42 จุด เพิ่มขึ้น 89.82 จุด หรือ +1.48%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (1 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน อย่างไรก็ดี สัญญาน้ำมันดิบ WTI ขยับลงเพียงเล็กน้อย ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ปิดตลาดในแดนบวก ขานรับรายงานที่ว่า กลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส กำลังหารือกันเกี่ยวกับการขยายเวลาปรับลดการผลิตน้ำมัน ก่อนที่การประชุมจะมีขึ้นในวันที่ 4 มิ.ย.นี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 5 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 35.44 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 48 เซนต์ หรือ 1.3% ปิดที่ 38.32 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (1 มิ.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลภาคการผลิตที่ฟื้นตัวขึ้นในเดือนพ.ค. ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งเหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นในสหรัฐ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 1.4 ดอลลาร์ หรือ 0.08% ปิดที่ 1,750.3 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 32.8 เซนต์ หรือ 1.77% ปิดที่ 18.827 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. พุ่งขึ้น 26.5 ดอลลาร์ หรือ 3.03% ปิดที่ 901.1 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 15.50 ดอลลาร์ หรือ 0.8% ปิดที่ 1,988.40 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง เช่นสกุลเงินยูโร ท่ามกลางความหวังที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นเมื่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.50% สู่ระดับ 97.8371 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.59 เยน จากระดับ 107.79 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3577 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3777 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ดอลลาร์ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 0.9617 ฟรังก์

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1132 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1102 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2493 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2327 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6798 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6664 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button