“จุรินทร์” หารือ รมต.การค้าอียู พิจารณา เพิ่มโควตานำเข้าไก่ไทย-ฟื้นเจรจา FTA
"จุรินทร์" หารือ รมต.การค้าอียู พิจารณา เพิ่มโควตานำเข้าไก่ไทย-ฟื้นเจรจา FTA กระตุ้นเศรษฐกิจ หลังพ้นวิกฤต "โควิด-19"
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือทางไกล กับนายฟิล โฮแกน กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.63 ที่ผ่านมา ว่า การหารือครั้งนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน และเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีการค้าสองฝ่ายได้หารือกัน หลังนายฟิล โฮแกน ตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรีการค้าของฝ่ายสหภาพยุโรป (อียู) เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ธ.ค.62
สำหรับการหารือครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญ อาทิ
1. ไทยขอให้อียูพิจารณาจัดสรรโควตานำเข้าไก่ให้ไทยเพิ่มขึ้น หลังอียูต้องมีการปรับตารางข้อผูกพันภาษีที่ทำไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) ใหม่ หลังสหราชอาณาจักรถอนตัวจากอียู (Brexit)
ทั้งนี้ เพื่อให้ปริมาณนำเข้าไก่จากไทยของอียูใกล้เคียงปัจจุบันมากที่สุด โดยไทยขอเพิ่มโควตาจาก 288,000 ตัน เป็น 320,000 ตัน
2. ร่วมมือฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 โดยให้ความสำคัญกับกลไลการค้าเสรีของ WTO หลีกเลี่ยงการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่จำเป็น เพื่อให้การค้าระหว่างกันราบรื่นและไร้อุปสรรค
รวมทั้งเพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตโลกหรือกระบวนการผลิตสินค้า สามารถเชื่อมโยงระหว่างกันได้โดยไม่ติดขัด นอกจากนั้น ควรให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัล และปรับปรุงการค้าไปสู่รูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
3. เร่งรัดให้แต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง เพื่อให้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO สามารถเดินหน้าต่อไปได้
4. ความเป็นไปได้ในการฟื้นการเจรจา เอฟทีเอไทย-อียู หากทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเป็นประโยชน์และมีความคาดหวังตรงกัน
ทั้งนี้ อียูถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทย รองจากอาเซียน, จีน, ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 38,239 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 8.4% ของการค้าไทยกับโลก
โดยในปี 2562 ไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 19,737 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, แผงวงจรไฟฟ้า, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, ไก่แปรรูป, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น
ส่วนไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 18,501 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เครื่องบิน อุปกรณ์การบิน, เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์เวชกรรม และเภสัชกรรม เป็นต้น