“นายกฯ” กำชับใช้งบ 4 แสนล้าน ฟื้นฟูศก.-สังคม ต้องโปร่งใส คาดเม็ดเงินไหลเข้าระบบก.ค.นี้
"นายกฯ" กำชับใช้งบ 4 แสนล้าน ฟื้นฟูศก.-สังคม ต้องโปร่งใส คาดเม็ดเงินไหลเข้าระบบก.ค.นี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยืนยันว่า การใช้งบประมาณในโครงการ ภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท จะดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ และป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตโดยเด็ดขาด
โดยโครงการหรือกิจการที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการใช้เงินกู้พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะต้องเป็นโครงการที่เน้นการฟื้นฟู มีขั้นตอนที่ชัดเจนที่นำไปสู่การดำเนินการ ตรงกับความต้องการของประชาชนและกลุ่มที่เดือดร้อน โดยคาดว่าจะเริ่มอนุมัติโครงการและจ่ายเงินได้ในตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.เป็นต้นไป
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หลักการสำคัญของงบประมาณส่วนนี้ ใช้สำหรับการกระตุ้นบริโภค เน้นการท่องเที่ยว ช่วยเหลือ SME ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเกิดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชน ช่วยให้เกิดการจ้างงานสำหรับบัณทิตจบใหม่ได้มีงานทำ
โดยได้กำชับในที่ประชุม ครม.ว่าจะทยอยอนุมัติงบประมาณฯเป็นระยะๆ เพื่อจะได้มีการประเมินหรือสามารถปรับแผนงานได้ และต้องสานต่อไปยังเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/63 ก่อนที่จะมีการพิจารณาการใช้งบประมาณประจำปี 64
“งบประมาณส่วนนี้จะไม่ใช้กับโครงการที่เป็นการลงทุน หรือการพัฒนาที่อยู่ในแผนระยะยาว และอยู่ในงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว เพราะงบประมาณ 4 แสนล้านบาทได้มาด้วยความยากลำบาก เพราะต้องไปกู้มา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้าน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่ล่าช้า เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ว่าควรจะมีปรับปรุงรูปแบบการดำเนินการให้รัดกุมและเป็นระบบ เพื่อที่จะสามารถทำให้จ่ายเงินได้รวดเร็วขึ้น
และขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการทำงาน กำกับการปฎิบัติหน้าที่ตามสายการบังคับบัญชา เพื่อให้การดำเนินงานช่วยเหลือประชาชนมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องรับฟังปัญหาจากประชาชนด้วย ทั้งนี้ ข้าราชการและนักการเมืองต้องทำงานร่วมกันเพื่อประชาชน และเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ
สำหรับในส่วนของแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นั้น ต้องเน้นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และการเชื่อมต่อระบบคมนาคมซึ่งทุกระบบต้องเชื่อมต่อกันแบบโครงข่าย รวมถึงการดูแลลูกจ้างของ ขสมก. ทั้งนี้ต้องพิจารณาแผนการเงินอย่างละเอียดก่อนนำเสนอให้ ครม.พิจารณา เพื่อให้ ขสมก.เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่การบริหารจัดการน้ำ นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น ประชาชน เจ้าของที่ดิน และเกษตรกร ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาวางระบบท่อแบบปิด เพื่อความยั่งยืนของการใช้น้ำในระยะยาว
สำหรับกรุงเทพมหานครขอให้เตรียมการรับสถานการณ์น้ำท่วมขัง รวมถึงกำหนดแผนป้องกันเพื่อจะดำเนินการแก้ไขให้ได้ตรงจุด และขอให้สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดทำฐานข้อมูลรวบรวมแหล่งเก็บน้ำที่ดำเนินการไปแล้วว่ามีศักยภาพแค่ไหน สามารถกักเก็บน้ำได้จำนวนเท่าไหร่
ส่วนเรื่องการจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อต้องการให้ประชาชนมีที่ดินทำกิน แต่ปัญหาคือที่ดินที่มีการจัดสรรไปนั้นไม่เหมาะต่อการเกษตร ขอให้พิจารณาว่าในทางกฎหมายจะเปิดทางให้ประชาชนสามารถทำกิจการอื่นได้หรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษขอให้เน้นการจ้างแรงงานไทย ขณะที่เรื่องเกษตร BCG ขอให้กำหนดแผนปฎิบัติการให้ชัดเจน เน้นการจ้างคนจบใหม่ สร้าง startup ที่เป็นคนรุ่นใหม่