“อีอีซี” รับพิษ “โควิด” ทำต่างชาติชะลอลงทุน สูญเม็ดเงินกว่า 8 ล้าน คาดฟื้นหลังเจอวัคซีน
“คณิศ แสงสุพรรณ" เลขาฯ อีอีซี รับพิษ “โควิด” ทำต่างชาติชะลอลงทุน สูญเม็ดเงินกว่า 8 ล้าน คาดฟื้นราวต้นปีหน้า หลังเจอวัคซีน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานว่า ภาพรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในปีนี้ คาดว่าจะชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ก่อนจะปรับฟื้นขึ้นในต้นปีหน้า หลังจากเจอวัคซีนโควิด-19
ดังนั้น ประเทศไทยจะมีเวลา 6-9 เดือนหลังจากนี้ในการสร้างแรงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามา แม้ว่ากระบวนการลงทุนจะยังไม่ลื่นไหลจนกว่าจะเจอวัคซีน แต่ก็เพื่อช่วยรักษาทิศทางการลงทุนของประเทศ
โดยประเมินว่ามาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ ทั้งการปิดเมือง ห้ามเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย และอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ติดลบ 5% ขณะที่เม็ดเงินลงทุนหายไปกว่า 8 แสนล้านบาท โดยที่ประชุม กบอ. จะมีการพิจารณาทิศทางเศรษฐกิจและเม็ดเงินลงทุนอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป หลังจากที่รัฐบาลเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี ตามที่กลุ่มบุคลากรภาคธุรกิจในพื้นที่ อีอีซี จากประเทศญี่ปุ่น อาทิ หอการค้าประเทศญี่ปุ่น (Japanese Chamber of Commerce : JCC) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ภาคธุรกิจจากสาธารณรัฐเกาหลี และประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม ได้ยื่นหนังสือถึงภาครัฐ
โดยขอให้ผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ รวมถึงการส่งช่างเทคนิค เข้ามาตรวจสอบซ่อมบำรุงเครื่องจักรในอุตสาหกรรม และเพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ บุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดให้มีการตรวจและออกใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางเข้ามาไทยมีสุขภาพเหมาะสมกับการเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly)
ส่วนความคืบหน้าด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ อีอีซี ได้มีการวางแผนและบริการจัดการน้ำให้เพียงพอในฤดูแล้งหน้า ปี 2563/64 เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ และสูบกลับน้ำเพื่อเก็บน้ำให้มากที่สุด และภาคอุตสาหกรรมควรมีแหล่งน้ำเป็นของตัวเอง โครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่อีอีซี โดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เสนอโครงการพลังงานที่ใช้ในเมืองใหม่ รูปแบบพลังงานอัจฉริยะ ขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าที่ใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ จะไม่สูงกว่าราคาไฟฟ้าทั่วไปที่ กฟภ. ขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น
ขณะที่การจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC ซึ่งมีเป้าหมายการยกระดับรายได้เกษตรกรให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ โดยมีแนวทางในการพัฒนาภาคเกษตร คือ การใช้ความต้องการนำการผลิต, การยกระดับการตลาด การแปรรูป การเกษตรด้วยเทคโนโลยีทุกขึ้นตอน และ การให้ความสำคัญกับ 5 คลัสเตอร์ที่มีพื้นฐานทำได้ดี เช่น ผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก พืช Bio-Based3 ประมง สมุนไพร พืชมูลค่าสูง (ปลอดสารพิษ)
สำหรับความคืบหน้าการลงทุนที่สนามบินอู่ตะเภามูลค่า 2.9 แสนล้านบาท นายคณิศ กล่าวว่า ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้จะมีการลงนามกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS) โดยภาพรวมโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC มีการลงทุนไปแล้วกว่า 6.5 แสนล้านบาท
ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท โครงการสนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 2.9 แสนล้านบาท โครงการท่าเรือมาบตาพุด วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และโครงการท่าเรือแหลมฉบับที่อยู่ระหว่างเจรจา คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้ วงเงินลงทุน 1 แสนล้านบาท โดยการลงทุนในอีอีซีดำเนินการผ่านกระบวนการร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) ทำให้โครงการหลักในอีอีซีไม่ได้รบกวนงบประมาณของประเทศที่จะไปใช้ในการพัฒนาภาคส่วนอื่นๆ
“การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของอีอีซีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยหลัก ๆ ดำเนินการผ่าน PPP ซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จ ทำให้การทำโครงการหลักในอีอีซีไม่ได้รบกวนงบประมาณที่จะไปพัฒนาประเทศของภาคอื่นๆ” นายคณิศ กล่าว