สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 12 มิ.ย. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 12 มิ.ย. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 400 จุดเมื่อวันศุกร์ (12 มิ.ย.) เนื่องจากนักเก็งกำไรเข้าช้อนซื้อหุ้น หลังจากตลาดดิ่งลงอย่างหนักในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ท่ามกลางการซื้อขายที่เป็นไปอย่างผันผวน โดยดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ฟื้นตัวขึ้นด้วย แต่ดัชนีหุ้นทั้ง 3 ตัวก็ยังคงร่วงลงในสัปดาห์นี้รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,605.54 จุด พุ่งขึ้น 477.37 จุด หรือ +1.90%,  ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,041.31 จุด เพิ่มขึ้น 39.21 จุด หรือ +1.31% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,588.81 จุด เพิ่มขึ้น 96.08 จุด หรือ +1.01%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ (12 มิ.ย.) โดยฟื้นตัวขึ้นหลังจากร่วงลงอย่างหนักในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา แต่ตลาดยังคงปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในสัปดาห์นี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคโควิด-19

ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.28% ปิดที่ 354.06 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,839.26 จุด เพิ่มขึ้น 23.67 จุด หรือ +0.49% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,105.18 จุด เพิ่มขึ้น 28.48 จุด หรือ +0.47% ขณะที่ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 11,949.28 จุด ลดลง 21.02 จุด หรือ -0.18%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (12 มิ.ย.) เนื่องจากแรงซื้อคืนหนุนตลาดฟื้นตัวขึ้นหลังจากติดลบ 4 วันติดต่อกัน โดยหุ้นที่ปรับตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจดีดตัวขึ้น แต่ตลาดโดยรวมขยับขึ้นเล็กน้อย ขณะที่บรรยากาศการซื้อขายยังคงซบเซาหลังสหราชอาณาจักรรายงานภาวะเศรษฐกิจหดตัวลงในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,105.18 จุด เพิ่มขึ้น 28.48 จุด หรือ  +0.47%

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดในแดนลบเมื่อวันศุกร์ (12 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงขายทองซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า หลังจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้นกว่า 400 จุด ขณะที่การแข็งค่าของดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น กดดันราคาทองลงด้วย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 2.5 ดอลลาร์ หรือ 0.14% ปิดที่ 1,737.3 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ปรับตัวขึ้น 3.2% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 40.7 เซนต์ หรือ 2.28% ปิดที่ 17.482  ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 5 ดอลลาร์ หรือ 0.61% ปิดที่ 819  ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 28.40 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 1,938.50 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวลงเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ (12 มิ.ย.) และปรับตัวลงรายสัปดาห์เป็นครั้งแรกในรอบ 7 สัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันส่วนเกิน และความเป็นไปได้ที่โรคโควิด-19 จะแพร่ระบาดรอบสองในสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และฉุดอุปสงค์น้ำมันลงอีกครั้ง

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 8 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 36.26 ดอลลาร์/บาร์เรล และร่วงลง 8.3% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 18 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 38.73 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ร่วงลง 8.4% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (12 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งถือเป็นสกุลเงินปลอดภัย และมีสภาพคล่องสูง ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดรอบสองของโรคโควิด-19 ในสหรัฐ

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 0.6% แตะที่ระดับ 97.3046 เมื่อวันศุกร์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.44 เยน จากระดับ 106.80 เยน, ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9542 ฟรังก์ จากระดับ 0.9431 ฟรังก์ และดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3612 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3605 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1234 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1301 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2492 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2595  ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6843 ดอลลาร์ จากระดับ 0.6847 ดอลลาร์

Back to top button