LOXLEY จับมือ มจธ.ร่วมทดสอบความคุ้มค่ารถบัสไฟฟ้าก่อนใช้จริง
LOXLEY จับมือ มจธ.ร่วมทดสอบความคุ้มค่ารถบัสไฟฟ้าก่อนใช้จริง
บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) หรือ LOXLEY ระบุว่า บริษัททดลองนำรถโดยสารไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นโดยบริษัท BYD จำกัด ประเทศจีน มาทดสอบใช้ในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้จึงนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กับบริษัท โดย ผศ.ยศพงษ์ ลออนวล ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มจธ.กล่าวว่าถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่าเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานโยบายด้านการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ โดยเริ่มที่รถโดยสารไฟฟ้า
“เป็นครั้งแรกที่ มจธ. จับมือกับล็อกซเล่ย์ โดยเริ่มต้นจากการทำการศึกษาการใช้งานจริงของรถโดยสารไฟฟ้า ซึ่งอาจารย์และนักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มจธ. และบริษัทล็อกซเล่ย์ ร่วมกันทดสอบเพื่อการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์การใช้พลังงานในรถโดยสารไฟฟ้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศในสภาพการใช้งานจริงของประเทศไทยเพื่อเปรียบเทียบถึงความคุ้มค่ากับการใช้รถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและ NGV ในปัจจุบัน เช่น รถโดยสารรับส่งพนักงาน และรถโดยสารจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก”ผศ.ยศพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ รถโดยสารไฟฟ้านั้นมีอายุการใช้งานนานถึง 20 ปี ซึ่งถ้าพูดถึงความคุ้มค่าเรื่องอายุการใช้งานมีมากกว่ารถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลอย่างแน่นอน ส่วนรถที่ใช้ NGV นั้นค่อนข้างใกล้เคียงกัน ดังนั้น หากมีการวางแผนเรื่องของระบบการชาร์ทไฟของรถโดยสารไฟฟ้าให้อยู่ในช่วง Off Peak ก็จะทำให้ต้นทุนถูกลงได้อีก
นายธงชัย ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) หรือ LOXLEY เปิดเผยว่า ทางล็อกซเล่ย์เองก็มีบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์อยู่แล้ว มีการริเริ่มในเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ รวมถึง BYD บริษัทที่กำลังเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของโลก แต่เนื่องจากเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เราจึงจำเป็นต้องศึกษาวิจัยถึงพลังงานที่จะใช้กับยานยนต์ไฟฟ้านั้นว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่จึงเกิดเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในครั้งนี้
“ตั้งแต่ริเริ่มเรื่องรถโดยสารไฟฟ้าสัมผัสได้ว่าเสียงส่วนใหญ่มักกล่าวถึงยานยนต์ไฟฟ้าในมิติเดียวเท่านั้น คือในเรื่องของราคาที่สูงกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับรถโดยสารทั่วไปแต่น้อยนักที่จะกล่าวถึงยานยนต์ไฟฟ้าในแง่ของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มลพิษ และอากาศ เราให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจมาเป็นอันดับแรก แต่เรื่องความคุ้มค่าด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร ซึ่งต่างจากต่างประเทศที่มักจะให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นที่หนึ่งเสมอ ดังนั้นจึงคาดหวังว่าในความร่วมมือกับคณะวิจัยครั้งนี้นอกจากผลด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้วต้องตอบโจทย์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบ้านเราด้วยเช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม โครงการวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือเพื่อศึกษาความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ข้อดีและข้อจำกัดของรถโดยสารไฟฟ้ารวมถึงการเปรียบเทียบการใช้พลังงานในเส้นทางที่ให้บริการจริง และจากความร่วมมือนี้ไม่ได้หยุดที่รถโดยสารไฟฟ้าเท่านั้น แต่เป็นเพียงการเริ่มโปรเจคแรกที่ มจธ. ทำร่วมกับบริษัท ซึ่งจะมีการพัฒนาความร่วมมือทางการวิจัยและพัฒนาด้านยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตต่อไป
อินโฟเควสท์