“สภาอุตฯ” ชง “บสย.” ค้ำฯสินเชื่อ หนุนผู้ประกอบการ เข้าไม่ถึงซอฟต์โลน ธปท. เหตุติดเงื่อนไข
“สภาอุตฯ” ชง “บสย.” ค้ำฯสินเชื่อ หนุนผู้ประกอบการ เข้าไม่ถึงซอฟต์โลน ธปท. เหตุติดเงื่อนไข
นายปรีชา ส่งวัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะอนุกรรมการการเงินและภาษี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย ส.อ.ท. ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการอุตสากรรมภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงสินเชื่อทางการเงินของภาครัฐ
โดย ส.อ.ท.ได้จัดทำแบบสำรวจกลุ่มอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด อาทิ สภาอุตสาหกรรม 5 ภาค กลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด 74 จังหวัด สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 360 ราย พบว่า สมาชิกส่วนใหญ่ ยังคงมีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) จำนวน 500,000 ล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ทั้งนี้ เนื่องจาก พ.ร.ก. กำหนดให้ SMEs สามารถขอสินเชื่อได้เท่านั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่มียอดขายเกิน 500 ล้านบาท ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ รวมถึงผู้ประกอบการบางรายมีประวัติที่ไม่ดี ประสบปัญหาเป็นหนี้ NPL หรือเคยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ หรือค้างชำระหนี้ หรือขาดทุนในช่วงต้นปี 2563 จะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อ หรือในบางกรณี ธนาคารพาณิชย์แจ้งว่าสินเชื่อดังกล่าวหมดแล้ว และเสนอ Package สินเชื่ออื่นแทน ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าและมีการเก็บค่าธรรมเนียม รวมถึงธนาคารพาณิชย์เรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มแม้จะแจ้งว่าไม่บังคับ แต่มีส่วนในการตัดสินใจอนุมัติการปล่อยสินเชื่อ อีกด้วย
ดังนั้น ส.อ.ท. ขอเสนอแนวทางความร่วมมือไปยังภาครัฐ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ดังนี้
1.ขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ ธปท. 5 แสนล้านบาท เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการง่ายขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์กังวลเรื่องผู้ประกอบการยังไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ภายใน 2 ปี จึงต้องให้ บสย. ค้ำประกันหนี้ต่อหลังจากหมด พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ซึ่งสอดคล้องกับมติการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.63 โดยในขณะนี้ บสย. อยู่ระหว่างการหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกับสถาบันการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ต่อไป
2.ขอสนับสนุนแนวทางการช่วยเหลือทางการเงินกับ SMEs จากมติ ครม. วันที่ 26 พ.ค.63 ที่ได้เห็นชอบให้ปล่อยสินเชื่อวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารออมสิน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.ก. Soft Loan โดยเฉพาะที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 โดยมีสิทธิประโยชน์ อาทิ วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งคล้ายคลึงกับ Soft Loan ของ ธปท. และในเบื้องต้น ส.อ.ท. จะขอให้มีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น รวมถึงจะดำเนินการประชาสัมพันธ์มาตรการนี้ให้กับสมาชิกได้รับรู้เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ส.อ.ท. สนับสนุนแนวทางการช่วยเหลือเพิ่มเติมดังกล่าว และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งสินเชื่อ ด้วยการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์มาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและภาษีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นตัวกลางในการประสานงานด้านข้อมูลและช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถการดำเนินธุรกิจท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อไปได้