“ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” มองรัฐอัดแพ็กเกจท่องเที่ยว หลังคลายล็อก หนุนเงินสะพัด 4.1 หมื่นล้านบาท

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองรัฐอัดแพ็กเกจท่องเที่ยว หลังคลายล็อก หนุนเงินสะพัด 4.1 หมื่นล้านบาท


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ “มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ หลังการคลายล็อก หนุนคนไทยเที่ยวในประเทศ … คาดสร้างรายได้เพิ่มราว 41,000 ล้านบาท” โดยคาดว่า ตลาดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยจะได้รับผลด้านบวกจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศหลังการคลายล็อก ช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค.63 ของภาครัฐ จะทำให้มีเม็ดเงินรายได้เพิ่มขึ้นราว 41,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการฯ

ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการฯ ดังกล่าวมีการออกแบบที่จะช่วยเหลือให้ครอบคลุมผู้ประกอบการในห่วงโซ่ของภาคการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจท้องถิ่นอย่างร้านขายของที่ระลึก หรือร้านอาหาร เป็นต้น

อีกทั้งยังน่าจะมีผลทางจิตวิทยากระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวและก่อให้เกิดการใช้จ่ายในสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่งผลทางบวกเพิ่มเติมต่อทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากเดิมที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดการท่องเที่ยวของคนไทยเที่ยวในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 63 จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรกอยู่แล้ว หากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคลี่คลาย

โดยจากผลสำรวจ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวอันดับ 1 ซึ่งจังหวัดยอดนิยมทางทะเล 5 อันดับแรก ได้แก่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต กระบี่ และเพชรบุรี ส่วนจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวรองลงมา คือ แหล่งท่องเที่ยวทางภูเขา/น้ำตก (เช่น เชียงใหม่ เชียงราย น่าน นครราชสีมา) และการไปไหว้พระทำบุญ (เช่น พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี)

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกที่จะเดินทางโดยการขับรถส่วนตัว เนื่องจากสะดวก ปลอดภัย และมีการเดินทางเป็นครอบครัว รองลงมา คือ การเดินทางโดยเครื่องบิน รถทัวร์/รถตู้ รถไฟ และการเช่ารถ

อย่างไรก็ดี ด้วยกำลังซื้อที่เปราะบางตามภาวะเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 63 ตลาดจะยังไม่สามารถพลิกมาเป็นบวก และทำให้ทั้งปีคนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะอยู่ที่ 89.5-91.5 ล้านคน-ครั้ง หรือหดตัว 46.4% ถึงหดตัว 45.2% จากปีที่ผ่านมา

ขณะที่รายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะมีมูลค่า 5.45-5.67 แสนล้านบาท หรือหดตัว 49.5% ถึงหดตัว 47.5% จากปีที่ผ่านมา ภายใต้สมมติฐานที่ไม่มีการระบาดรอบใหม่ที่รุนแรงในไทย แต่ก็เป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ดีกว่าที่เคยประเมินไว้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ธุรกิจยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายประการ โดยการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในกรอบที่จำกัด ส่งผลทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรง โดยเฉพาะแรงกดดันต่อการกำหนดทิศทางของราคา ขณะเดียวกันการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการภายใต้สภาวะ New Normal ยังเต็มไปด้วยข้อจำกัดซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้และต้นทุนของผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว

ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวก็จำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำตลาด โดยใช้จังหวะที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว อาทิ จัดแพ็กเกจท่องเที่ยวพิเศษสำหรับผู้ที่ไม่สามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์จากมาตรการฯ และการจูงใจให้นักท่องเที่ยวกลับมาใช้บริการอีกครั้ง โดยมีการนำเสนอแพ็กเกจราคาพิเศษให้กับผู้ที่มาใช้บริการในครั้งต่อไป เป็นต้น

นอกจากนี้ คงต้องติดตามรายละเอียดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้วงเงิน 4 แสนล้านบาทที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมและหนุนการท่องเที่ยวให้มีแรงขับเคลื่อนต่อไป

Back to top button