“ศรีตรังโกลฟส์” กำหนดช่วง IPO ที่ 32-34 บ. คาดเคาะราคาสุดท้าย 22 มิ.ย. เล็งเทรด 2 ก.ค.นี้
"ศรีตรังโกลฟส์" หรือ STGT กำหนดช่วง IPO ที่ 32-34 บ. คาดเคาะราคาขาย 22 มิ.ย. เล็งเข้าเทรด 2 ก.ค.นี้
นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บล.ฟินันซ่า ในฐานะที่ปรึกษาการเงินของ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย ) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT เปิดเผยว่า STGT กำหนดช่วงราคาขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) อยู่ที่ 32-34 บาท /หุ้น หลังจากทำ Book Building แล้วมีดีมานด์มากกว่าจำนวนที่เสนอขาย 444.78 ล้านหุ้น โดยคาดว่าจะสามารถสรุปราคาเสนอขายสุดท้ายในวันที่ 22 มิ.ย.และจะเปิดให้จองซื้อหุ้นได้ในวันที่ 23-25 มิ.ย. ซึ่งคาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ได้ในวันที่ 2 ก.ค.นี้
ในส่วนของความเสี่ยงธุรกิจหลักของ STGT คืออัตราแลกเปลี่ยน ทั้งสกุลเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินริงกิตเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยหากค่าเงินบาทแข็งและค่าเงินริงกิตอ่อนค่าจะกระทบกับบริษัท อย่างไรก็ตาม เห็นว่าในปีนี้แนวโน้มเงินบาทแข็งค่าไม่สูงมาก เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวหายไป ส่วนรายได้จากการส่งออกยังมีอยู่ ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงด้านต้นทนการผลิต โดยเฉพาะน้ำยางดิบ คาดว่าราคาไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมาก เพราะสถานการณ์โควิดทำให้ความต้องการซื้อวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตยางรถยนต์ลดลง
ด้าน นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ STGT คาดว่า ยอดขายในปีนี้จะเติบโต 40-45% เป็น 2.8-2.9 หมื่นล้านชิ้น และส่วนแบ่งตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 9-10% ของตลาดโลก ทั้งนี้ สินค้าของบริษัทมีตลาดหลักอยู่ในภูมิภาคเอเชีย 40% ประเทศกำลังพัฒนา 20% ยุโรป 20% และ สหรัฐอเมริกา 20% โดยมองโอกาสการเติบโตการใช้ถุงมือยางในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มเอเชียค่อนข้างสูง เพราะยังมีอัตราการใช้ต่ำเพียง 10 ชิ้น/คน/ปี ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีอัตราการใช้ 100-150 ชิ้น/คน/ปี
กลยุทธ์หลักในการเติบโตของบริษัทคือการขยายกำลังการผลิต โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 7 หมื่นล้านชิ้นต่อปีในปี 71 และเพิ่มเป็น 1 แสนล้านชิ้นต่อปีในปี 75 หรือในอีก 12 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 3.6 หมื่นล้านชิ้น/ปี นอกจากนี้ยังมีแผนการเพิ่มข่องทางการขาย จากเน้นถุงมือยางธรรมชาติเป็นหลัก มีสัดส่วน 65% และอีก 35% เป็นถุงมือยางสังเคราะห์ ซึ่งบริษัทมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% และ 60%
สำหรับถุงมือยางธรรมชาติ ปัจจุบันบริษัทส่งออกไปขาย 140 ประเทศทั่วโลก โดยมีเป้าหมายจะขายไปทุกประเทศทั่วโลก อีกทั้งจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
โดยภาพรวมอตุสาหกรรมถุงมือยางในอีก 10 ปีข้างหน้าเติบโตอย่างน้อย 8-10% ต่อปี จากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 60-62) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 12%ต่อปี และปัจจัยที่ผลักดันให้มีความต้องการเติบโตจากที่ประชากรสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของโรคที่จะเห็นว่าที่ผ่านมามีโรคระบาดเกิดขึ้นต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 โรค H1N1 และโรคซาร์ เป็นต้น รวมถึงนโยบายของภาครัฐแต่ละประเทศที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง