สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 19 มิ.ย. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 19 มิ.ย. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อวันศุกร์ (19 มิ.ย.) หลังการซื้อขายที่เป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากนักลงทุนวิตกกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในหลายรัฐ และบริษัทแอปเปิล อิงค์ ประกาศปิดสโตร์ในสหรัฐ นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความเห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เป็นไปอย่างรวดเร็วและราบรื่น

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,871.46 จุด ร่วงลง 208.64 จุด หรือ -0.80% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,097.74 จุด ลดลง 17.60 จุด หรือ -0.56% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,946.12 จุด เพิ่มขึ้น 3.07 จุด หรือ +0.03%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (19 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากความหวังเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในยูโรโซน แม้ผู้นำสหภาพยุโรป (EU) ยังคงมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการเจรจาเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวก็ตาม

ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.56% ปิดที่ 365.46 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,979.45 จุด เพิ่มขึ้น 20.70 จุด หรือ +0.42%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,330.76 จุด เพิ่มขึ้น 49.23 จุด หรือ +0.40%และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,292.60 จุด เพิ่มขึ้น 68.53 จุด หรือ +1.10%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (19 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนการเปิดเผยยอดค้าปลีกในอังกฤษที่พุ่งขึ้นอย่างมากในเดือนพ.ค.ซึ่งหนุนความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหลังได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบได้ช่วยหนุนหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,292.60 จุด เพิ่มขึ้น 68.53 จุด หรือ +1.10%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (19 มิ.ย.) ขานรับรายงานข่าวที่ว่ากลุ่มโอเปกพลัสเดินหน้าลดการผลิตน้ำมันลงอีก และสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้ช่วยหนุนแนวโน้มอุปสงค์พลังงาน นอกจากนี้ รายงานแท่นจุดเจาะน้ำมันที่ลดลงในสหรัฐได้ช่วยหนุนตลาดด้วย

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. พุ่งขึ้น 91 เซนต์ หรือ 2.3% ปิดที่ 39.75 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. และปรับตัวขึ้น 9.6% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 68 เซนต์ หรือ 1.6% ปิดที่ 42.19 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 8.9% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (19 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดรอบสองของโรคโควิด-19 ในสหรัฐและจีน

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 21.9 ดอลลาร์ หรือ 1.27% ปิดที่ 1,753  ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้นราว 0.9% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 33.9 เซนต์ หรือ 1.94% ปิดที่ 17.847 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. พุ่งขึ้น 15.1 ดอลลาร์ หรือ 1.86% ปิดที่ 827.3 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 20 เซนต์ หรือ 0.01% ปิดที่ 1,908.40 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (19 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งถือเป็นสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดรอบสองของโรคโควิด-19 ในสหรัฐและจีน

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.2% สู่ระดับ 97.622 เมื่อคืนนี้ โดยปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันแล้ว

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบเงินเยนที่ระดับ 106.86 เยน จากระดับ 106.82 เยน, ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9516 ฟรังก์ จากระดับ 0.9510 ฟรังก์ และดอลลาร์ทรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3604 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1186 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1207 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2355 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2419  ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าสู่ระดับ 0.6848 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6846 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button