จีนเนรมิตห้องแล็บ “ดวงตาไฟ” เสร็จใน 2 วัน ชี้ตรวจจับไวรัส “โควิด” วันละ 10,000 ครั้ง!
จีนเนรมิตห้องแล็บ "ดวงตาไฟ" ซุนหงอคง เสร็จใน 2 วัน ชี้ตรวจจับไวรัส "โควิด" วันละ 10,000 ครั้ง!
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ได้ทดลองใช้งานห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ถูกจัดตั้งภายในเต็นท์พองลม ณ สนามกีฬาทางตอนใต้ของเมือง ซึ่งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจโรคโควิด-19 ดังกล่าวถูกก่อสร้างขึ้นในเขตต้าซิง เพื่อตอบสนองความต้องการทดสอบกรดนิวคลีอิกที่เพิ่มขึ้นของปักกิ่ง หลังจากมีการยืนยันการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน (cluster) เมื่อไม่นานนี้
สำหรับห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่หั่วเหยี่ยน (Huoyan) หรือดวงตาไฟ (Fire Eye) ก่อสร้างเสร็จสิ้นภายใน 2 วัน เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน และเป็นที่ตั้งของเครื่องจักรทดสอบกรดนิวคลีอิกเพื่อตรวจโรคโควิด-19 แบบอัตโนมัติ จำนวน 14 เครื่อง รายงานเสริมว่าเครื่องจักรเหล่านั้นมาจากบีจีไอ จีโนมิกส์ (BGI Genomics) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติจีน ซึ่งมีฐานอยู่ในนครเซินเจิ้น มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของประเทศ
อิ่นเย่ ซีอีโอของบีจีไอ เผยว่าห้องปฏิบัติการตั้งอยู่ในเต็นท์พองลม 9 หลัง แต่ละหลังมีขนาด 70 ตารางเมตร ทั้งหมดแบ่งเป็นเต็นท์รับตัวอย่างสารคัดหลั่ง 3 หลัง และเต็นท์อุปกรณ์ 6 หลัง โดยห้องปฏิบัติการสามารถทดสอบกรดนิวคลีอิก 10,000 ครั้งต่อวันเมื่อดำเนินงานเต็มรูปแบบ
“ห้องปฏิบัติการดวงตาไฟที่พัฒนาโดยบีจีไอ ถูกใช้งานทั่วโลกเพื่อทดสอบกรดนิวคลีอิกขนานใหญ่โดยไม่มีการแทรกแซงของมนุษย์ โดย “ดวงตาไฟ” เป็นตาวิเศษของราชาวานรตามคติชนจีนอย่างซุนหงอคงที่ใช้สอดส่องเหล่าปีศาจร้าย”
นอกจากนี้ บีจีไอ ยังระบุว่ามีการก่อสร้างห้องปฏิบัติการดวงตาไฟแบบเต็นท์พองลม จำนวน 8 แห่งทั่วโลก โดยห้องปฏิบัติการแห่งแรกเริ่มดำเนินงานเมื่อเดือนพฤษภาคม ในนครฮาร์บิน เมืองเอกของมณฑลเฮยหลงเจียงทางตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้ โถงภายในห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่เหล่านี้ถูกติดตั้งอุปกรณ์กำจัดขยะของเสียทางการแพทย์ รวมถึงห้องแต่งตัว โดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์สามารถส่งตัวอย่างเพื่อทำการทดสอบผ่านหน้าต่างโดยไม่ต้องสัมผัสกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในห้องปฏิบัติการ
อนึ่ง กรุงปักกิ่งดำเนินโครงการระบุตำแหน่งและทดสอบกรดนิวคลีอิกให้ประชาชนทั่วเมืองที่มีประวัติเดินทางเยือนตลาดค้าส่งซินฟาตี้ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันผลของปักกิ่งมากที่สุด ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. เป็นต้นมา
ขณะที่วันอังคาร (23 มิ.ย.) คณะกรรมการสุขภาพเทศบาลนครปักกิ่งยืนยันการตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ติดเชื้อในท้องถิ่นเพิ่ม 13 ราย ผู้ป่วยต้องสงสัยเพิ่ม 2 ราย และผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการเพิ่ม 1 ราย เมื่อวันจันทร์ (22 มิ.ย.)