“อุตตม” ติวเข้ม แจงงบฯ ปี 64 วงเงิน 3.3 ลบ. วาระแรก 1-3 ก.ค.นี้!
“อุตตม” ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้อง ติวเข้มแจงงบฯ ปี 64 วงเงิน 3.3 ลบ. ต่อที่ประชุมสภาฯ วาระแรก ระหว่างวันที่ 1-3 ก.ค.นี้ ยันมุ่งเน้นใช้เงินคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด!
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้ประชุมร่วมกับสำนักงบประมาณ และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมบัญชีกลาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในวาระ 1 ระหว่างวันที่ 1-3 ก.ค.นี้
ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561, พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 รวมถึงกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ซึ่งพิจารณาครอบคลุมในทุกแหล่งเงิน ทั้งในส่วนของเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ และเงินสะสมคงเหลือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยแนวทางในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ภายใต้วงเงิน 3.3 ล้านบาท สอดคล้องตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งเน้นแนวทางการทำงานแบบบูรณาการของทุกภาคส่วนในทุกมิติ ทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และเชิงพื้นที่ โดยประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม วงเงิน 795,806 ล้านบาท 2.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ วงเงิน 577,752 ล้านบาท 3. ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ วงเงิน 556,529 ล้านบาท 4.ด้านความมั่นคง วงเงิน 416,004 ล้านบาท 5.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน วงเงิน 402,311 ล้านบาท และ 6.ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วงเงิน 118,315 ล้านบาท
สำหรับการจัดสรรงบประมาณฯ ดังกล่าวยังให้ความสำคัญต่อความเชื่อมโยงกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะระดับท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในระดับพื้นที่ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด