“เฟด” สั่งแบงก์สหรัฐฯ คุมจ่ายปันผล-งดซื้อหุ้นคืน ไตรมาส 3 รองรับความเสี่ยงวิกฤตศก.

“เฟด” สั่งแบงก์สหรัฐฯ คุมจ่ายปันผล-งดซื้อหุ้นคืน ไตรมาส 3 รองรับความเสี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจ


ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำหนดให้ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐฯจะต้องกันเงินทุนสำรองไว้ที่ระดับปัจจุบันด้วยการระงับการซื้อหุ้นคืน และจำกัดการจ่ายเงินปันผลในไตรมาส 3/2563 โดยคำสั่งดังกล่าวมีขึ้น หลังจากการเปิดเผยผลการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ 34 แห่งในสหรัฐฯเมื่อวานนี้

เฟดระบุว่า เกณฑ์ในการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายเงินปันผลนั้น จะพิจารณาจากกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งการคำนวณตามเกณฑ์ดังกล่าว อาจทำให้ธนาคารบางแห่งต้องปรับลดการจ่ายเงินปันผล ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดรายหนึ่งกล่าวว่า กฎเกณฑ์ดังกล่าวอาจทำให้ธนาคารบางแห่งไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้

เจ้าหน้าที่เฟดยังกล่าวด้วยว่า เฟดจะเดินหน้าพิจารณากฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นรายไตรมาส และคาดว่ากำไรสุทธิของธนาคารบางแห่งอาจจะลดลง เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นอกจากนี้ เฟดยังกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต้องประเมินความต้องการเงินทุน และจะต้องยื่นแผนการใช้จ่ายทุนในช่วงต่อไปของปีนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ของการทดสอบ Stress Test ที่ธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐฯ จะต้องยื่นแผนการใช้จ่ายอีกครั้งในปีนี้ และอาจจะยังคงมีการกำหนดข้อจำกัดในการใช้จ่ายของธนาคารต่างๆ ต่อไป นอกจากนี้ เฟดระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารพาณิชย์อาจจะต้องยื่นแผนดังกล่าวทุกๆ ไตรมาส

เฟดได้เปิดเผยผลการศึกษา 2 กรณีซึ่งได้แก่ การทดสอบ Stress Test แบบเดิมซึ่งกำหนดขึ้นในเดือนก.พ.ที่ผ่านมาก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการวิเคราะห์เงินทุนของธนาคารภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจ 3 แบบที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้าท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 โดยรูปแบบดังกล่าวได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจแบบ V-shaped, U-shaped และ W-shaped

ทั้งนี้ ผลการทดสอบแบบเดิมแสดงให้เห็นว่า ธนาคารรายใหญ่ทุกแห่งยังคงมีสถานะเงินทุนที่ดี

การทดสอบ Stress Test ของเฟดนั้น ครอบคลุมถึงการประเมินว่า มีความปลอดภัยหรือไม่ที่ธนาคารต่างๆ จะดำเนินการตามแผนการใช้จ่ายเงินทุน ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินปันผล และการใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากการตั้งสำรองหนี้เสีย โดยการทดสอบดังกล่าวได้รับการออกแบบขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เงินภาษีของประชาชนมาช่วยเหลือธนาคารต่างๆ เหมือนในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินปี 2550-2552

Back to top button