“ศักดิ์สยาม” ย้ำ “EEC” เดินตามเป้า-เร่งเจรจา “แหลมฉบัง” เฟส 3 คาดปิดดีลใน 2 เดือน

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ย้ำ “EEC” เดินตามเป้า-เร่งเจรจา “แหลมฉบัง” เฟส 3 คาดปิดดีลใน 2 เดือน


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการพัฒนาโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการพัฒนาสาธารณูปโภคเชื่อมโยงพื้นที่ EEC ว่า โครงการที่ดำเนินการเป็นรูปธรรมแล้วคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ลงนามในสัญญาและเริ่มส่งมอบพื้นที่แล้ว คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 68 และโครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินที่ล่าสุดลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.63 ซึ่งจะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศจากการที่เอกชนเสนอผลตอบแทนให้รัฐถึง 3 แสนล้านบาท

ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองราคากับเอกชนที่ชนะการประมูล คือ กิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (บริษัทในกลุ่ม ปตท.) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GULF และ China Harbour Enginerring Company Limited เป็นเอกชนรายเดียวที่ผ่านคุณสมบัติ ยังเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐต่ำกว่าราคากลาง คาดว่าจะสรุปได้ภายใน 2 เดือนนี้

สำหรับโครงการทางบกนั้น นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ต่อขยายเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) M7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด เชื่อมไปถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทางประมาณ7 กม. ขณะนี้กรมทางหลวง (ทล.) ได้เสนอของบประมาณจากคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งจะสามารถดำเนินการเพื่อรองรับการบริการโลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ ได้ทันในปี 68

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ศึกษาการออกกฎหมายเพิ่มเติมอีก 4 เขตเศรษฐกิจรูปแบบเดียวกับ EEC ได้แก่  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้

ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคใต้ ขณะนี้ได้มีการศึกษาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันกับฝั่งอ่าวไทย รองรับเรือกินน้ำลึกมากกว่า 15 เมตร และมีระบบออโตเมติกในการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือ 2 ฝั่งโดยรถไฟทางคู่ และใช้เวลาในการขนส่งเชื่อมแลนด์บริดจ์สองฝั่งไม่เกิน 40 นาที ลดการเดินทางโดยเรืออ้อมแหลมมาลายูได้กว่า 2 วันครึ่ง ซึ่งจะเป็นการสร้างศักยภาพการเดินทางขนส่งสินค้าและน้ำ

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า จากการหารือกับนายอัตสึชิ ทาเคทานิ  ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และนายโชอิจิ โอกิวาร่า ในฐานะประธานผู้แทนหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) วานนี้ถึงการลงทุนของนักธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทย และได้รายงานผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจช่วงครึ่งแรกของปี 63 โดยส่งแบบสอบถามไปยังบริษัทสมาชิก JCCB ในประเด็นต่างๆ อย่างครอบคลุมปัญหา อุปสรรค การดำเนินงานโครงการต่างๆ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 อย่างเป็นระบบ ซึ่งไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศมากว่า 3 สัปดาห์แล้ว ภาพรวมได้กลับสู่ภาวะเกือบเป็นปกติ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจญี่ปุ่นที่มีต่อประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ภาคธุรกิจญี่ปุ่นได้สอบถามถึงการดำเนินในด้านการขนส่งของไทย  ซึ่งขณะนี้ได้ยกเลิกเคอร์ฟิว ทำให้การเดินทางภายในประเทศและการขนส่งกลับมาเป็นปกติ ส่วนการเดินทางระหว่างประเทศทั้งทางบก เรือ และอากาศ จะใช้มาตรการด้านสาธารณสุขเป็นหลักในการพิจารณา เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ซึ่งได้ขอให้ JETRO Bangkok และ JCCB ประสานงานกับทางรัฐบาลญี่ปุ่นในการตรวจหาเชื้อผู้โดยสารที่จะเดินทางมายังประเทศไทย

สำหรับภาคธุรกิจประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการเดินทางมาลงทุนหรือบริหารงานภายในประเทศสามารถเดินทางมาได้ แต่จะต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมของกระทรวงสาธารณสุขกำหนด สำหรับการขนส่งทางน้ำในการเปลี่ยนบุคลากรของญี่ปุ่นที่จะขึ้นเรือ สามารถดำเนินการได้แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเช่นกัน

Back to top button