“สมคิด” สั่งเร่งเครื่อง แผนลงทุน PPP อัดเงินฟื้นฟูศก. หลังพบทุกโครงการล่าช้า 6-10 เดือน!
“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ สั่งเร่งเครื่อง แผนลงทุน PPP อัดเม็ดเงินฟื้นฟูศก. หลังพบทุกโครงการล่าช้า 6-10 เดือน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่ดีได้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย ดังนั้น สิ่งที่ประเทศจะสามารถพึ่งพาได้คือการลงทุนในประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้รายงานความคืบหน้าโครงการ PPP แทบทุกโครงการมีความล่าช้าออกไป 6-10 เดือน
“ได้กำชับกับนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร.ให้สื่อความไปถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของโครงการลงทุนให้พยายามเดินหน้าผลักดันโครงการต่อไปให้ได้ จะช้าไปบ้างไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่ช้าขนาดเป็นปี ซึ่งรัฐวิสาหกิจต้องให้เหตุผลให้ได้ว่าการลงทุนล่าช้าเพราะอะไร” นายสมคิด กล่าว
โดยโครงการ PPP มี 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่แล้วก็ให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว เมื่อวานนี้ (25 มิ.ย.63) ได้สั่งการให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เร่งนำโครงการลงทุนของปีหน้ามาลงทุนภายในปีนี้ และปรับเปลี่ยนการลงทุนที่เน้นการจ้างงานให้มากขึ้น
ส่วนที่สอง คือ โครงการที่มีแผนเข้า PPP ซึ่งขณะนี้ขอหยุดโครงการไว้ทั้งหมด จึงได้ให้ สคร.ไปติดตามว่าหยุดโครงการเพราะอะไร มีเหตุผลหรือไม่ หากไม่มีเหตุผลจะไม่ให้ชะลอโครงการ แต่หากยังชะลอโครงการหรือไม่ยอมลงทุนก็ให้ยกเลิกโครงการ แล้วไปหาโครงการอื่นมาทดแทน
“รัฐบาลต้องการเห็นโครงการลงทุน PPP ไม่ใช่แต่เรื่องโครงการโครงการสร้างพื้นฐานเท่านั้น ต้องการให้การลงทุน PPP ในโครงการด้านสังคม ด้านการแพทย์ สาธารณสุข การศึกษา ที่อยู่อาศัยเพื่อคนชรา การท่องเที่ยว การเกษตร ในส่วนนี้มีความตื่นตัวน้อยเพราะไม่มีแรงจูงใจ ได้ให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปดูมาตรการจูงใจเพิ่มเติม และให้ สคร. ประชาสัมพันธ์ว่ารัฐบาบมีการร่วมลงทุนในลักษณะนี้ เพื่อให้เอกชนเสนอโครงการเข้ามา” นายสมคิด กล่าว
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า การลงทุน PPP ล่าช้าเพราะปัญหาการระบาดของโควิด ไม่ได้มาจากปัญหาเกียร์ว่างของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซึ่งเศรษฐกิจต้องการลงทุนและการบริโภคในประเทศ เพราะการส่งออกวันนี่ช่วยเศรษฐกิจไม่ได้ คลังจะต้องเร่งประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการ เพื่อเร่งการลงทุน
ขณะที่นายชาญวิทย์ นาคบุรี ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ สคร. กล่าวว่า โครงการ PPP มีทั้งหมด 90 โครงการ มูลค่า 1.09 ล้านล้านบาท มีโครงการที่สำคัญ 18 โครงการ มูลค่า 4.72 แสนล้านบาท ในจำนวนมีกว่า 10 โครงการที่ลงทุนล่าช้า ซึ่งนายสมคิดได้สั่งการให้ สคร.ติดตามใกล้ชิด หากการลงทุนไม่เป็นไปตามแผน ให้เชิญผู้บริหารเจ้าของโครงการมาร่วมประชุมเพื่อชี้แจงในครั้งหน้า
ส่วนนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า โครงการลงทุน PPP ล่าช้า เพราะผลกระทบจากการระบาดโควิด ทำให้การจัดส่งวัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศเพื่อก่อสร้างลงทุนไม่สามารถทำได้ เพราะมีการปิดประเทศ
สำหรับการประชุมวันนี้ คณะกรรมการได้เห็นชอบการออกกฎหมายลูก PPP เรื่องโครงการลงทุนที่มีมูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแม่ PPP ทั้งหมด ให้ปฏิบัติตามกฎหมายลูกที่จะออกมา ประกอบด้วย 2 ส่วน ในส่วนแรกกิจการโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้เป็นอำนาจของหน่วยงานเจ้าของโครงการ หรือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงดำเนินการไปได้เลย และในส่วนที่สองโครงการที่มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ให้เสนอ สคร. เพื่อเสนอให้คณะกรรมการ PPP พิจารณาว่าต้องดำเนินการตามกฎหมายแม่หรือไม่ หากไม่จำเป็นก็ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ หรือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงดำเนินการไปได้เลย