จีนพบ “ยาลดคอเลสเตอรอล” ช่วยชะลออัตราเสียชีวิตผู้ป่วย “โควิด”

สำนักข่าวซินหัว เผยผลการศึกษาของจีนพบ “ยาลดคอเลสเตอรอล” ช่วยชะลออัตราเสียชีวิตผู้ป่วย “โควิด”


สำนักข่าวซินหัว รายงานผลการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารเซลล์ เมตาบอลิซึม (Cell Metabolism) เผยว่ากลุ่มยาสแตติน (Statin) ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลายเพื่อปรับลดระดับคอเลสเตอรอล อาจช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

จากการศึกษาในสัตว์ระบุว่ายาสแตตินสามารถปรับปรุงการตอบสนองของเซลล์ภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบ และชะลอการลุกลามของอาการบาดเจ็บที่ปอด อย่างไรก็ดี ยังไม่มีผลทางคลินิกยืนยันชัดเจนว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะได้รับผลกระทบจากการใช้ยาดังกล่าวหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตัวยาสแตตินเพียงอย่างเดียว หรือใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น

เพื่อค้นหาคำตอบ นักวิจัยประจำโรงพยาบาลเหรินหมินแห่งมหาวิทยาลัยอู่ฮั่นได้ทำการศึกษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 13,981 ราย ณ โรงพยาบาล 21 แห่งในมณฑลหูเป่ย โดยมีผู้ป่วย 1,219 รายในจำนวนนั้นที่ได้รับยาสแตติน

โดยหลังจากติดตามผล 28 วัน นักวิจัยพบว่าอัตราการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาสแตตินอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ต่ำกว่าอัตราการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 9.4

การศึกษาผู้ป่วยจำนวนมากยังเผยว่าการใช้ยาสแตตินมีส่วนเชื่อมโยงกับสถิติของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ลดลงในการใช้เครื่องช่วยหายใจ การรักษาตัวในหอผู้ป่วยหนัก และการเกิดอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน นอกจากนี้ผู้ที่ใช้ยาสแตตินยังมีดัชนีการเกิดภาวะอักเสบต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยา ซึ่งบ่งชี้ว่ายาสแตตินสามารถป้องกันผู้ป่วยจากการเจ็บป่วยรุนแรงได้

ทั้งนี้ นักวิจัยเสริมว่าผู้ป่วยในการศึกษา 319 รายได้ใช้กลุ่มยาสแตตินร่วมกับเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitor) หรือยาลดความดันโลหิตกลุ่มแอนจีโอเทนซิน (ARBs) ขณะที่ผู้ป่วยอีก 603 รายใช้ยาสแตตินร่วมกับยารักษาความดันโลหิตอื่น โดยการศึกษาพบว่าการเพิ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ หรือยากลุ่มแอนจีโอเทนซิน ไม่ได้เพิ่มอัตราความเสี่ยงการเสียชีวิตในผู้ป่วยแต่อย่างใด

ด้านหลี่หงเหลียง ผู้นำการวิจัยนำกล่าวว่า “ผลลัพธ์ดังกล่าวพิสูจน์ถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของกลุ่มยาสแตตินในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล” พร้อมเสริมว่าตัวยาดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะสามารถรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยังไม่มีวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติ หรือยังไม่มีหนทางรักษาโรคชนิดนี้

Back to top button