“กกร.” หั่นเป้า GDP ปี 63 หด -5 ถึง -8% มองภาพรวมศก. ยังถดถอย ผลกระทบวิกฤต “โควิด”
ที่ประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) หั่นเป้า GDP ปี 63 หด -5 ถึง -8% มองภาพรวมศก. ยังถดถอย ผลกระทบวิกฤต "โควิด"
ที่ประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 63 ลงมาเป็น -8.0 ถึง -5.0% (จากเดิม -5.0 ถึง -3.0%) แม้ในเดือนพ.ค.และมิ.ย. ภาครัฐจะทยอยคลายล็อกให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการ แต่เครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะหดตัวจากกำลังซื้อที่อ่อนแอของครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลต่อบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ
ขณะเดียวกันการส่งออกและการท่องเที่ยวยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศที่ยังไม่ยุติ จึงได้ปรับลดกรอบประมาณการการส่งออกปีนี้มาเป็น -10.0 ถึง -7.0% (จากเดิม -10.0 ถึง -5.0%) และปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาที่ -1.5 ถึง -1.0% (จากเดิม -1.5 ถึง 0.0%)
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานกกร. กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง แนวโน้มเศรษฐกิจยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการระบาดของไวรัสโควิดในบางประเทศที่ยังรุนแรง ซึ่งจะทำให้การเปิดพรมแดนระหว่างประเทศของไทยคงเกิดขึ้นอย่างจำกัด ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่แรงฉุดจากเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และประเทศอื่นๆ ตลอดจนเงินบาทที่แข็งค่า อาจยังกดดันการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหมวดสินค้าไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ
นอกจากการทบทวนกรอบประมาณการในปี2563 แล้ว ที่ประชุม กกร. มีความเป็นห่วงเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าในอัตราที่เร็วกว่าสกุลเงินภูมิภาคในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และยังมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกในระยะข้างหน้า จากเงินดอลลาร์ฯที่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อ่อนแอกว่าคาดและการดำเนินนโยบายอัดฉีด QE ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ มาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด ควบคู่กับแรงขับเคลื่อนจากกลไกภาครัฐผ่านการอนุมัติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จะเข้ามาช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด อย่างไรก็ตาม การกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจคงต้องใช้เวลา และจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กกร.ได้ร่วมหารือเพื่อรับมอบนโยบายจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน SME อย่างทั่วถึง โดยมี 1) กองทุน 50,000 ล้านบาท โดย สสว. เป็นผู้จัดตั้งกองทุน 2) การเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในกลุ่ม SME ซึ่งเตรียมนำเสนอ ครม.ในวันที่ 7 ก.ค.63 หากผ่านความเห็นชอบจาก ครม. จะสามารถดำเนินการภายในเดือน ส.ค.63
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า แม้จะคลายล็อกแล้วก็ตามแต่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ได้กลับเข้าสู่ปกติ ดังนั้น อยากให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการให้เหมาะสม
“อย่า panic จนเกินไป ถ้าพบคนติดเชื้อในประเทศ 4-5 รายแล้วจะปิดประเทศอีกคงไม่เหมาะ เพราะด้านการแพทย์ของเรามีความพร้อมที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้” นายสุพันธุ์ กล่าว
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความอยู่รอดของผู้ประกอบการ หากเกิดปัญหาขาดสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง และขายสินค้าไม่ได้จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานราว 10 ล้านคน ซึ่งหากมีการเลิกจ้างก็จะเป็นภาระต่องบประมาณที่รัฐบาลต้องใช้เยียวยา
ขณะที่นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากภาวะเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่องจะส่งผลให้ NPL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ต้องดูแลไม่ให้เกิดความรุนแรงจนควบคุมไม่ได้
อีกเรื่องที่เป็นห่วงคือเสถียรภาพทางการเมือง กรณีมีข่าวปรับ ครม.ซึ่งขอให้ผู้ดูแลด้านเศรษฐกิจมีความรู้ความสามารถ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ไม่ติดขัด ดูแบปัญหาปากท้องของประชาชน ส่วนจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นใครหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี