หุ้นเอเชียผันผวน-ดาวโจนส์อ่อนแรง เฟดหวั่นโควิดระบาดรอบ 2-นโยบายคลังไม่เพียงพอฟื้นศก.
หุ้นเอเชียผันผวน-ดาวโจนส์อ่อนแรง เฟดหวั่นโควิดระบาดรอบ 2-นโยบายคลังไม่เพียงพอฟื้นศก.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวทั้งในแดนบวกและลบเช้านี้ ตามทิศทางตลาดหุ้นนิวยอร์ก โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดลบเมื่อคืนนี้ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนมิ.ย. ซึ่งนักลงทุนมองว่า เฟดไม่ได้ให้รายละเอียดมากนักเกี่ยวกับแนวทางการสื่อสารให้ตลาดรับรู้เรื่องสัญญาณชี้นำทิศทางนโยบายการเงิน (Forward Guidance)
อย่างไรก็ดี ดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดทำนิวไฮ ขานรับความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ
ทั้งนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 22,182.68 จุด เพิ่มขึ้น 60.95 จุด, +0.28% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,023.72 จุด ลดลง 2.26 จุด, -0.07% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 24,563.57 จุด เพิ่มขึ้น 136.38 จุด, +0.56% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 11,694.10 จุด ลดลง 9.32 จุด, -0.08% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,116.72 จุด เพิ่มขึ้น 10.02 จุด, +0.48% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,607.49 จุด ลดลง 2.68 จุด, -0.10% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,514.78 จุด เพิ่มขึ้น 0.35 จุด, +0.02%
โดย เฟดเปิดเผยรายงานการประชุมเดือนมิ.ย.เมื่อวานนี้ ซึ่งใจความส่วนหนึ่งระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ควรสื่อสารให้ตลาดรับรู้ “สัญญาณชี้นำทิศทางนโยบายการเงิน (Forward Guidance) เกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ขณะที่กรรมการเฟดส่วนหนึ่งกล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องผลักดันให้มีการใช้เครื่องมืออื่นๆ ที่มีความเป็นไปได้ เช่น การควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve control) ซึ่งจะช่วยควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาว
ทั้งนี้ รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า มีโอกาสอย่างมากที่จะเกิดการแพร่ระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 และยังระบุว่า มีความเสี่ยงที่มาตรการการคลังในการให้ความช่วยเหลือภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และรัฐบาลท้องถิ่น อาจจะไม่เพียงพอ
ด้าน นักวิเคราะห์จากบริษัทแคปิตอล อิโคโนมิกส์ กล่าวว่า รายงานการประชุมเดือนมิ.ย.ของเฟดไม่ได้บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินในระยะใกล้ และยังแสดงให้เห็นว่า เฟดยังต้องใช้เวลาอีกนานในการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว
ทั้งนี้ ในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐนั้น ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.369 ล้านตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ขณะเดียวกัน ADP ได้ปรับตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนในเดือนพ.ค. โดยรายงานว่ามีการจ้างงานพุ่งขึ้น 3.065 ล้านตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่า การจ้างงานลดลง 2.76 ล้านตำแหน่ง
ด้านผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 52.6 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว จากระดับ 43.1 ในเดือนพ.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 49.5
ทั้งนี้ ข้อมูลของ ISM สอดคล้องกับที่ไอเอชเอส มาร์กิต รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.8 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 39.8 ในเดือนพ.ค.