“พาณิชย์” เผยยอด GSP-FTA 4 เดือนแรก ปี 63 ร่วง 12.08% เซ่นมาตรการปิดพรมแดน สกัด “โควิด”
“พาณิชย์” เผยยอด GSP-FTA 4 เดือนแรก ปี 63 ร่วง 12.08% เซ่นมาตรการปิดพรมแดน สกัด “โควิด”
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) และการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ช่วง 4 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) มีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมมูลค่า 21,340.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.08% มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ฯ 78.11% ของการใช้สิทธิทั้งหมด แบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 1,793.52 ล้านเหรียญสหรัฐ และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 19,546.52 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับการใช้สิทธิฯ ภายใต้ GSP ซึ่งไทยได้รับสิทธิฯ จำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐอเมริกา, สวิตเซอร์แลนด์, รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 1,793.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.87% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 85.25% โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุด คือ สหรัฐฯ มูลค่า 1,644.78 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.34% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 89.63% อันดับสอง คือ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 85.26 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.84% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 44.05% อันดับสาม คือ รัสเซียและเครือรัฐ มูลค่า 55.30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.57% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 85.76% และนอร์เวย์ มูลค่า 8.18 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 33.01% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ สูงถึง 77.54%
สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเครื่องดื่ม และอาหาร/เกษตรแปรรูป ซึ่งยังคงเป็นที่ต้องการของหลายประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ อาหารปรุงแต่งอื่นๆ (สหรัฐอเมริกา) น้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่ไม่ได้หมักและเติมสุรา (สหรัฐอเมริกา) สับปะรดกระป๋อง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) พืชและผลไม้ปรุงแต่ง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) น้ำสับปะรด (สวิตเซอร์แลนด์) ปลาทูน่ากระป๋อง (สวิตเซอร์แลนด์) ข้าว (นอร์เวย์) ผลไม้ปรุงแต่ง (นอร์เวย์) เป็นต้น
ส่วนการใช้สิทธิฯ ภายใต้ความตกลง FTA จำนวน 11 ฉบับ (ไม่รวมอาเซียน-ฮ่องกง เนื่องจากภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่เป็น 0% อยู่แล้วก่อนที่จะมีความตกลงฯ และไทย-นิวซีแลนด์ ที่ใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออก) ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีมูลค่า 19,546.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 13.30% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 77.51% เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกยังคงดำเนินมาตรการป้องกันเชื้อไวรัส อาทิ มาตรการปิดเมือง ปิดพรมแดน รวมถึงปิดประเทศชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตจนไปถึงการขนส่งสินค้า/โลจิสติกส์ระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ดี ไทยยังมีโอกาสและแต้มต่อทางการค้า จากการเป็นครัวของโลกโดยยังสามารถส่งออกสินค้าเครื่องดื่ม อาหาร/เกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น โดยในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.63 การส่งออกสินค้าดังกล่าวขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ผลไม้อื่นๆ เช่น ลำไย เงาะ ลางสาด (อาเซียน-จีน) แชมพู (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เครื่องปรับอากาศแบบติดผนัง (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัว (ไทย-เปรู) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต (ไทย-เปรู) อาหาร-ปรุงแต่งอื่นๆ (อาเซียน) น้ำ รวมถึงน้ำแร่และน้ำอัดลม (อาเซียน) เป็นต้น
“เพื่อเป็นการสร้างแต้มต่อและโอกาสในการส่งออกสินค้า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กรมฯ ขอเชิญชวนผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) และสิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) 13 ฉบับ โดยหากผู้ประกอบการมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1385” นายกีรติ กล่าว