“พาณิชย์” ชี้ “เงินเฟ้อ” มิ.ย. ขยายตัวจากเดือนก่อน 1.56% เชื่อผ่านจุดต่ำสุดแล้ว!
“พาณิชย์” ชี้ “เงินเฟ้อ” มิ.ย. ขยายตัวจากเดือนก่อน 1.56% เชื่อผ่านจุดต่ำสุดแล้ว!
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ ในเดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ 101.32 หดตัว -1.57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.63 ขยายตัว 1.56% โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) เฉลี่ยหดตัว -1.13%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน มิ.ย.63 อยู่ที่ 102.50 หดตัว -0.05% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี 8 เดือนที่ Core CPI ติดลบ และยังหดตัว -0.01% จากเดือน พ.ค.63 ส่วน 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) เฉลี่ยยังเป็นบวก 0.32%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค.เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิ.ย.63 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -1.57% แต่ปรับตัวดีขึ้นเพราะติดลบน้อยลงจากเดือนก่อน ถือเป็นสัญญาณที่ดี และเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นในช่วงต่อไป
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี 8 เดือน แต่เป็นการติดลบเพียงเล็กน้อย
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.มาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น แม้จะยังไม่เพิ่มสูงขึ้นมากนัก, มาตรการของภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่ผ่านมาเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด เช่น การช่วยลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา เป็นต้น รวมทั้งการดูแลราคาสินค้าและบริการอย่างใกล้ชิดจากกระทรวงพาณิชย์
“3 ตัวนี้ เป็นปัจจัยที่ไม่อยากเรียกว่าลบหรือบวก แต่เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่ออัตราเงินเฟ้อ….และจากการที่ภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากโควิดค่อนข้างมาก แม้จะเริ่มมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ แต่การท่องเที่ยวในประเทศยังเพิ่งเริ่มกลับมา ในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจยังไม่มีเข้ามาจนถึงปลายปี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร สายการบินยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนนี้ติดลบ”น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ
น.ส.พิมพ์ชนก มองว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์โควิดที่เริ่มผ่อนคลายลง ส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการบริโภคสินค้าและบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งราคาพลังงานมีแนวโน้มทรงตัวในระดับที่สูงกว่าไตรมาส 2 จากข้อตกลงของกลุ่มโอเปก ขณะที่ภัยแล้งยังคงเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด
อย่างไรก็ดี จากข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจในสถานการณ์ไม่ปกติที่ยังฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ และอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ทำให้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังมีแนวโน้มต่ำกว่า 0% และเฉลี่ยทั้งปียังติดลบ ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปีนี้ลงมาอยู่ที่ -1.5 ถึง -0.7%. จากเดิม -1.0 ถึง -0.2%
“ภาพรวมของปีนี้สถานการณ์โควิดยังเป็นตัวกดดันราคาสินค้าและบริการ ตลอดจนกำลังซื้อและพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชน ทำให้ยังมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายโดยเฉพาะสินค้าคงทน ในขณะที่สินค้าอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคยังคงมีการจับจ่ายตามปกติ…การท่องเที่ยวยังมีส่วนกดดันเงินเฟ้อในครึ่งปีหลัง นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาไม่มากเท่ากับปีก่อน ซึ่งจะกระทบกับเงินเฟ้อผ่านอุปสงค์และอุปทาน” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
พร้อมกันนี้ยังระบุว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศยังต้องรอการขับเคลื่อนจากภาครัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะเม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายในปี 63 และ 64 รวมทั้งเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งเม็ดเงินจากทั้งสองส่วนนี้จะเป็นตัวช่วยประคองเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ ควบคู่ไปกับการที่รัฐบาลมีมาตรการต่างๆ เพื่อออกมาช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจอย่างตรงวัตถุประสงค์
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า แม้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อจะติดลบ แต่ยังภาวะเศรษฐกิจยังไม่ได้ฝืด ซึ่งในท่ามกลางสถานการณ์โควิดนี้ การดูแลอัตราเงินเฟ้อให้มีเสถียรภาพน่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญ ซึ่งต้องทำให้เกิดความสมดุลทั้งด้านของประชาชน และด้านของผู้ผลิตด้วย