FETCO ชี้ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนหน้า เพิ่ม 4% หวังศก.ในประเทศฟื้นตัว
FETCO ชี้ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนหน้า เพิ่ม 4% หวังศก.ในประเทศฟื้นตัว
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น 4% อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเหมือนเดือนก่อน นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐ และการไหลเข้าออกของเงินทุน
อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาสสองเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าออกของเงินทุน และนโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงยังคงกังวลกับการระบาดรอบสองของโควิด-19
ทั้งนี้ FETCO Investor Confidence Index สำรวจในเดือน มิ.ย.63 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กันยายน 2563) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (ช่วงค่าดัชนี 80 – 119) โดยเพิ่มขึ้น 4% มาอยู่ที่ระดับ 19
นักลงทุนต่างชาติปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ “ร้อนแรง” ที่ 125.00 ในขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ “ทรงตัว” ที่ 100.00 สถาบันในประเทศปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับ “ทรงตัว” ที่ 100.00 กลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลงอยู่ในระดับ “ซบเซา” ที่ 71.79
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD)
หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK)
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน
ผลสำรวจรายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ “ร้อนแรง” ในขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และสถาบันในประเทศอยู่ในระดับ “ทรงตัว” ยกเว้นกลุ่มนักลงทุนบุคคลที่ปรับตัวลงอยู่ในระดับ “ซบเซา”
ในช่วงเดือน มิ.ย.63 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือน พ.ค. โดยช่วงครึ่งเดือนแรกดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1,341.99-1,438.66 จุด หลังจากได้รับแนวโน้มการผ่อนคลาย Lockdown ระยะที่ 4 รวมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว วงเงินรวม 22,400 ล้านบาท จากนั้นดัชนีปรับตัวลงเล็กน้อยหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 63 ติดลบ 8.1% และประกาศให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐประกาศห้ามธนาคารจ่ายเงินปันผล โดย ณ สิ้นเดือน มิ.ย.63 SET index ปิดที่ 1,339.03 จุด
นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐ และการไหลเข้าออกของเงินทุน อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาสสองเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าออกของเงินทุน และนโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงยังคงกังวลกับการระบาดรอบสองของโควิด-19
สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ความขัดแย้งบริเวณชายแดนจีน-อินเดีย การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตามได้แก่ ผลกระทบของโควิดต่อเศรษฐกิจ การผ่อนคลายการล็อกดาวน์ และมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ทั้งมาตรการด้านการคลัง มาตรการด้านสินเชื่อ และมาตรการด้านการเงิน