เอกชนเสนอ “นายกฯ” ตั้งศูนย์ฟื้นฟูศก.-ขยายเวลาพักหนี้-ดึง “ชิมช้อปใช้” กระตุ้นใช้จ่าย

"กอบศักดิ์" เผยภาคเอกชนเสนอ “นายกฯ” ตั้งศูนย์ฟื้นฟูศก.-ขยายเวลาพักหนี้-ดึง “ชิมช้อปใช้” กระตุ้นใช้จ่าย


นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านแนวทางการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานในช่วงเช้าวันนี้ (10 ก.ค.63)

โดยระบุว่า ฝ่ายภาคเอกชนมีข้อเสนอให้จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 รวมถึงแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ด้วยการลดภาระ เช่น การขยายเวลาพักชำระหนี้ การเสริมสภาพคล่อง เป็นต้น พร้อมกับกระตุ้นการท่องเที่ยววันธรรมดา และส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง นอกจากนั้น ยังเสนอให้นำโครงการชิมช้อปใช้มาดำเนินการอีกครั้งเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

นายกอบศักดิ์ ระบุว่า หลังจากที่รัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้ดีในระดับหนึ่ง ที่ประชุมฯจึงมีข้อเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูหลังโควิด ซึ่งเป็นแนวคิดที่ต้องการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ เน้นการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน

“ขณะนี้ประชาชนมีปัญหาสภาพคล่อง สายป่านไม่เพียงพอเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่จะจัดตั้งศูนย์ในลักษณะเดียวกัน โดยเน้นเศรษฐกิจ และช่วนกันปลดล็อกแต่ละเรื่องให้เดินไปอย่างเป็นระบบ เน้นการฟื้นฟูปากท้องของประชาชน” นายกอบศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือมาตรการช่วยเหลือ SMEs โดยมีข้อเสนอช่วยลดภาระผู้ประกอบการ ด้วยการขยายเวลาชำระหนี้ไปถึงเดือน ต.ค. และเพิ่มสภาพคล่องผ่านกองทุน SMEs ที่จะมีการจัดตั้งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เพื่อพิจารณาต่อไป

รวมทั้งยังมีข้อเสนอให้เพิ่มวงเงินค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ส่งเสริมให้ SME สามารถเข้าร่วมเสนองานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการปลดล็อกแก้ไขกฏหมายที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ

“ในที่ประชุมไม่ได้มีการหารือเรื่องการช่วยเหลือเงินเยียวยาเพิ่มเติม ซึ่งการแก้ปัญหาต้องมองตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสุดท้ายว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้าง ในขณะนี้บางธุรกิจสายป่านกำลังหมด จึงต้องหาแนวทางประคับประคอง หรือกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไรบ้าง” นายกอบศักดิ์ กล่าว

อีกทั้งได้มีการหารือถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเน้นให้มีการท่องเที่ยวในช่วงวันธรรมดาให้มากขึ้น มีการหารือถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และโครงการชิม ช็อป ใช้ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงการริเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มจองโรงแรมในประเทศซึ่งเป็นของคนไทยขึ้นมา และการดูแลโรงแรมบางแห่งที่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐ

นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างมาก โดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 ซึ่งในส่วนของประเทศไทยตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆในช่วงเดือน เม.ย.ถึง พ.ค.ทั้งเรื่องการส่งออก กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขบริโภค ติดลบทุกตัว และส่งกระทบรุนแรงกว่าวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 40

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าเมื่อผ่านไตรมาสที่ 2 ไปแล้ว ตัวเลขต่าง ๆ จะค่อยๆ ดีขึ้น เป็นผลจากมาตรการที่รัฐบาลทยอยประกาศออกมา โดยต้องเน้นดูแลการท่องเที่ยวเป็นพิเศษด้วย

Back to top button