“อุตตม” เคาะเพิ่ม 3 มาตรการเร่งด่วน ช่วย SME เสริมสภาพคล่อง-เข้าถึงแหล่งทุน สู้ “โควิด”

“อุตตม” เคาะเพิ่ม 3 มาตรการเร่งด่วน ช่วย SME เสริมสภาพคล่อง-เข้าถึงแหล่งทุน สู้ "โควิด"


นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ว่า ที่ประชุมสรุป 3 มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจากโควิด-19 หลังจากที่ผ่านมาได้มีมาตรการออกมาช่วยเหลือแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ

โดยมาตรการที่ 1.ได้สั่งการให้บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เตรียมวงเงินสำหรับค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวน 3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสามารถช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ 4.5 หมื่นล้านบาทในช่วง 2-3 เดือนนี้ ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเฉพาะหน้าให้เอสเอ็มอีมีสภาพคล่องสามารถหายใจได้ หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาการช่วยเหลือด้านเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม โดยมาตรการนี้สามารถดำเนินการได้ทันทีไม่ต้องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

2.จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (รายเล็ก) ที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบ โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นผู้ดำเนินการ โดยขนาดกองทุนอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท จะใช้วงเงินจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท โดยจะให้ สสว. ปล่อยกู้เงื่อนไขผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการคนตัวเล็กรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีสถานะปกติแต่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียกับระบบสถาบันการเงินด้วย โดยจะเสนอให้ ครม. พิจารณาในสัปดาห์หน้า

3.มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารออมสิน ไปเร่งหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการโรงแรมเท่านั้น ว่าจะมีแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง และจะต้องใช้งบประมาณเท่าใด โดยให้เร่งพิจารณาและให้นำกลับมาเสนออย่างเร่งด่วน

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า จะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รายละไม่เกิน 10-15 ล้านบาท เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้มากที่สุด โดยคาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มขึ้น 4-5 หมื่นราย

“เป้าหมายสำคัญของมาตรการนี้ จะช่วยให้การดูแลเอสเอ็มอีที่เริ่มประสบปัญหาความเสี่ยง หรือกลุ่มที่เสี่ยงการตกชั้นให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ถือเป็นภาคต่อของมาตรการที่เคยทำมาแล้วเมื่อ ม.ค. ที่ผ่านมา โดยวงเงินเบื้องต้น อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท อนาคตสามารถพิจารณาขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อได้อีก” นายรักษ์ กล่าว

ด้านนายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า การตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท มีการเปลี่ยนเงื่อนไข ทำให้เกิดความล่าช้า จากเดิมที่คาดว่าจะเสนอ ครม.ภายในสัปดาห์นี้ ต้องเลื่อนไปเป็นสัปดาห์หน้า โดยนายอุตตมต้องการให้กองทุนดังกล่าวช่วยทั้งผู้ประกอบการรายเล็กที่มีสถานะปกติ และกลุ่มที่เป็นหนี้เสียจากสถาบันการเงินไปพร้อมกัน จากเดิม สสว.เสนอการแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็น 2 ส่วน คือ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทแรก ช่วยสภาพคล่องระยะสั้นกับผู้ประกอบการที่มีผลการดำเนินงานปกติ และ 1 แสนล้านบาท ใช้เพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสีย เนื่องจากมีจำนวนมาก

ขณะที่นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สถานการณ์หนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์ขณะนี้ยังไม่ชัด แต่ถ้าดูตามภาพรวมเศรษฐกิจยอมรับว่ามีโอกาสจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จะมากหรือน้อยไม่มีความหมาย เพราะระบบของสถาบันการเงินยังสามารถเดินหน้าได้ปกติ และมั่นคงอยู่ โดยที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปแล้วกว่า 16 ล้านราย คิดเป็นยอดเงินค่อนข้างมาก ขณะที่การปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีนี้ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน เนื่องจากสถาบันการเงินมุ่งเน้นในการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิด ส่วนเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ จากวงเงินค้ำประกัน 3 หมื่นล้านบาทของ บสย. ยังอยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียด

Back to top button