หุ้นแบงก์เทรดคึก! ลุ้นปัจจัยบวกธปท.หั่นเงินนำส่ง FIDF ชู KTB-BBL-SCB-KBANK รับผลดีสุด

หุ้นแบงก์เทรดคึก! ลุ้นปัจจัยบวกธปท.หั่นเงินนำส่ง FIDF ชู KTB-BBL-SCB-KBANK รับผลดีสุด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ันนี้(15ก.ค.63) ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ดีดตัวขึ้นเกือบทั้งกลุ่ม โดยเฉพาะแบงก์ขนาดใหญ่ ตอบรับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณว่าอาจปรับลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) อีกรอบ โดย ณ เวลา11.25 น. ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นดังตารางประกอบ

ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อประเด็นที่ ธปท.อาจต่ออายุการลดเงินนำส่ง FIDF จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินของธนาคารลงได้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลง โดยได้ทำ sensitivity หากปรับลดเงินนำส่ง FIDF ลงเหลือ 0.23% จาก 0.46% ในปี 65 ต่ออีก พบว่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ได้ประโยชน์มากกว่าธนาคารขนาดเล็ก

โดย KTB ได้รับผลดีมากที่สุด กำไรสุทธิมี upside เพิ่ม +14% รองลงมาเป็น BBL ที่ +13% และ SCB ที่ +10% ส่วน KBANK +9% แต่อย่างไรก็ดี คาดว่า ธนาคารจะดำเนินงานอย่าง conservative ทำให้เชื่อว่า upside ดังกล่าวจะมีไม่มาก เพราะธนาคารจะนำไปตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้น

ส่วนประเด็นเรื่องการไม่ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่จะหมดอายุในเดือน ต.ค. 2563 เรามองว่าส่งผลดีต่อธนาคารในแง่ของกระแสเงินสดที่จะเข้ามา ทำให้ธนาคารไม่ขาดสภาพคล่อง ขณะที่เราเชื่อว่าแต่ละธนาคารจะจัดการกับลูกหนี้ที่มีปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้

ยังคงน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารเป็น “เท่ากับตลาด” ชอบ BBL (ซื้อ/เป้า 130.00 บาท) เพราะเป็นธนาคารที่ต้านทานภาวะเศรษฐกิจได้ดี และมีผลดีจากการรวมธนาคารเพอร์มาตาที่จะเพิ่ม upside ต่อประมาณการกำไรสุทธิในปี 64 ประมาณ 10%

ขณะที่บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า ข่าว ธปท.ที่มีโอกาสปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ลงอีกจากปัจจุบันอยู่ที่ 0.23% ของฐานเงินฝาก ถือเป็นข่าวดี ช่วยลดต้นทุนทางการเงินของธนาคารทันที เพิ่มสภาพคล่องให้ธนาคาร รวมถึงธนาคารสามารถนำไปช่วยเหลือลูกหนี้โดยการลดดอกเบี้ยลง ช่วยพยุงฐานะให้ลูกหนี้สามารถประคองตัว หากภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น จะทำให้ลูกหนี้สามารถอยู่รอดได้ไม่กลายเป็นหนี้ NPL และทำให้สถานะทางการเงินของธนาคารไม่ได้เลวร้ายตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นปัจจัยหหนุนต่อกลุ่มธนาคาร

อย่างไรก็ดี แม้ว่ายังไม่ได้ประกาศปรับลดเงินนำส่งกองทุน FIDF ลงจริง แต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ในอนาคต ถือเป็น sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ช่วงนี้เป็นช่วงที่กลุ่มธนาคารทยอยประกาศผลประกอบการ 2Q63 (ภายใน 21 ก.ค.63) ซึ่งคาดว่าไม่ค่อยดีนัก จึงแนะนำเพียงซื้อเก็งกำไรระยะสั้นไปก่อน

หุ้นแบงก์ที่เป็น Top Pick ของเราคือ BBL (TP:136) ถือเป็นหุ้นะนาคารขนาดใหญ่ที่มีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง อีกทั้งมีเงินสำรองที่สูงมากเพียงพอที่จะรองรับ NPL ที่อาจจะเกิดขึ้นมาได้ในช่วงนี้ และ TISCO (TP:83) ซึ่งถือเป็นธนาคารที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงสุด มีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและมีเงินปันผลสูง

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF ให้กับสถาบันการเงินเพิ่มเติม เพื่อเป็นการช่วยสถาบันการเงินให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้และสนับสนุนให้คนออมเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการชั่วคราว หากสถานการณ์กลับมาปกติ  สถาบันการเงินต้องกลับมาส่งเงินเข้ากองทุน FIDF ตามเดิม โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.63 ธปท.ได้ออกมาตรการให้สถาบันการเงินลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ลงมาที่ 0.23% จากเดิม 0.46% ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนให้กับสถาบันการเงิน หลังจากที่มีภาระในการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหา

อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า เงินฝากระบบธนาคารพาณิชย์ ณ เดือนมิ.ย.63 อยู่ที่ประมาณ 15.5 ล้านล้านบาท ขณะที่วงเงินซอฟต์โลนของธปท.อยู่ที่ 500,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันปล่อยวงเงินไปแล้ว 103,000 ล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย อย่างไรก็ตามธปท.วางเป้าหมายใช้วงเงิน 500,000 ล้านบาท ในสองเฟสด้วย

โดยเฟสแรกจะเน้นเรื่องการเยียวยา ส่วนเฟสสองเน้นเรื่องการฟื้นฟูโดยเฉพาะในช่วงปี 2564 ทั้งนี้ พรก.ซอฟต์โลนจะใช้ได้ถึงสิ้นเดือนธ.ค.2563 นี้ โดยจะต่อการยื่นขอสินเชื่อดังกล่าวอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน

ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส กล่าวว่า กรณีดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ โดยจะช่วยให้โอกาสที่ลูกค้าจะเป็นหนี้เสียลดลง หรือช้าลง และสินเชื่อจะเติบโตดีขึ้น หากธนาคารลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้าเพื่อแลกกับการลดเงินนำส่งฯ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับธนาคารเพื่อแลกกับการปล่อยกู้ให้ลูกค้า

ขณะที่นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน–กลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระพัฒนสิน เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวจะส่งผลให้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ดีขึ้น

Back to top button