STEC จ่อเซ็น 2 งานใหม่ครึ่งปีหลัง ดัน Backlog ทั้งปีแสนลบ. ตั้งเป้ารายได้แตะ 3.5 หมื่นลบ.

STEC จ่อเซ็น 2 งานใหม่ครึ่งปีหลัง ดัน Backlog ทั้งปีแสนลบ. ตั้งเป้ารายได้แตะ 3.5 หมื่นลบ.


นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เปิดเผยว่า บริษัทประเมินโอกาสที่จะได้รับงานภาครัฐราว 20-25% จากโครงการขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงครึ่งหลังของปี 63 กว่า 3 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ เฟส 2 จำนวน 2 เส้นทาง คือเส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มูลค่า 7.5 หมื่นล้านบาท และเส้นทางบางไผ่-นครพนม มูลค่างาน 5.4 หมื่นล้านบาท รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มูลค่างานโยธา 1.1 แสนล้านบาท

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่างานโยธา 9 หมื่นล้านบาทที่อยู่ระหว่างการประมูลนั้น คาดว่าจะลงนามสัญญาไม่ทันในปลายปีนี้  โดยบริษัทสนใจเข้าร่วมประมูลและมีแนวโน้มสูงที่จะจับมือกับกลุ่มเดิม คือ กลุ่มบีเอสอาร์ที่มี บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เป็นพันธมิตร

นอกจากนี้ มีงานจากโครงการ O&M มอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กิโลเมตร และ บางปะอิน-นครราชสีมา 196 กิโลเมตร ซึ่งกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์เตรียมลงนามกับกรมทางหลวงเร็วๆ นี้ แต่ STEC ยังไม่ทราบว่าจะได้งานมูลค่าเท่าใด เพราะถือหุ้นในกลุ่มนี้เพียง 10%

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทมีงานที่รอเซ็นสัญญาในช่วงครึ่งปีหลังนี้แล้วราว 2-3 หมื่นล้านบาท มาจากโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินที่จะมีการลงนามสัญญางานโยธาเฟสแรก ซึ่งจะทำให้บริษัทได้งานใหม่ตามเป้าหมายของปีนี้ที่  4 หมื่นล้านบาท หลังจากช่วงครึ่งปีแรกได้งานใหม่และเซ็นสัญญาแล้วประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้น สิ้นปี 63 นี้มีโอกาสที่ Backlog จะเพิ่มขึ้นแตะ 1 แสนล้านบาท

โดยในไตรมาส 2/63 รายได้ของ STEC จะเติบโตต่อเนื่อง โดยบริษัทรับรู้รายได้เดือนละ 3 พันล้านบาทจาก Backlog ที่มีอยู่ราว 9 หมื่นล้านบาท หรือไตรมาสละ 9 พันล้านบาท โดยคาดว่าทั้งปี 63 จะมีรายได้ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 3.3 หมื่นล้านบาท  แต่ในไตรมาสนี้มีค่าใช้จ่ายที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อาทิ ค่าแรง ค่าเช่าเครื่องจักร อยู่ระหว่างรวบรวมว่าจะมีมากน้อยอย่างไร

ยอดขายเรายังเติบโต งานก่อสร้างได้รับผลกระทบน้อยมาก แต่ยังประเมินเรื่องต้นทุนการก่อสร้างที่รับผลกระทบโควิด เช่น ค่าแรง ค่าเครื่องจักรที่เช่ามา และมีวัสดุบางตัวที่ส่งมาจากต่างประเทศก็ล่าช้าไปอาจมีต้นทุนสูง”นายภาคภูมิ กล่าว

ทั้งนี้บริษัทยังคงมีนโยบายจะหารายได้ประจำเข้ามาเสริมเพื่อกระจายความเสี่ยงงานก่อสร้างที่อาจลดลงในบางช่วงเวลา โดยขณะนี้ได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงาน ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF จำนวน 200 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 1.8% แลบริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE ราว 10% ซึ่งได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผล

นอกจากนี้ ยังหารายได้จากโครงการสัมปทานภครัฐ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง คาดว่าจะเดินรถได้ในปี 65 อย่างไรก็ตาม มีความพยายามจะเปิดบางส่วนให้ได้ภายในปี 64 ซึ่งเป็นกำหนดการเดิมที่จะต้องเปิดให้บริการ แต่หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งมอบพื้นที่ล่าช้าทำให้แผนงานเลื่อนออกไป

ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกกลุ่มที่เข้าร่วมกับพันธมิตรได้รับสัมปทาน 50 ปี บนพื้นที่ 6,500 ไร่  , การลงทุนหมอชิตคอมเพล็กซ์จะพัฒนาเป็นออฟฟิศให้เช่าคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี 66-67 แต่ในช่วงแรกนี้สัดส่วนรายได้ประจำจะมีไม่มากนัก ขณะที่ที่ดินเปล่า 3 แปลง ได้แก่ ย่านบางนา ย่านพระราม 3 และ หัวหิน ยังไม่ดำเนินการใดๆ เพราะจากผลการศึกษาพบว่าการลงทุนยังไม่คุ้มค่า ณ เวลานี้

 

Back to top button