ชาวนาเฮ! “นบข.” ไฟเขียว ประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด ฤดูผลิตใหม่ เริ่ม 1 ก.ย.นี้
ชาวนาเฮ! “นบข.” ไฟเขียว ประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด ฤดูผลิตใหม่ เริ่ม 1 ก.ย.นี้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เผยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1
โดยกำหนดราคาเป้าหมายและปริมาณต่อครัวเรือนเท่ากับปีที่ผ่านมา ประกอบด้วยข้าว 5 ชนิดดังนี้ 1. ข้าวหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน 2. ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน 3. ข้าวเจ้า 10,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน 4. ข้าวหอมปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ 5 .ข้าวเหนียว 12,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
นอกจากนั้นจะมีมาตรการเสริมเรื่องข้าว ได้แก่ 1.จะให้มีการชะลอการขายข้าว หากเป็นระยะเวลาที่ข้าวออกมากแล้วจะไปกดราคาตลาด ถ้าเกษตรกรเก็บข้าวไว้ไม่ขายจะมีเงินชดเชยให้ 1,500 บาท/ตัน ถ้าเป็นสถาบันเกษตรกรก็จะมีเงินให้ 1,500 บาท/ตันเหมือนกัน แต่สถาบันจะได้ 1,000 บาท และเกษตรกรจะได้ 500 บาท 2.เรื่องเงินกู้ โดยรัฐบาลจะช่วยรับภาระดอกเบี้ย 3% สำหรับสถาบันเกษตรกรและโรงสีที่ไปซื้อข้าวมาเก็บไว้ในช่วงที่ข้าวออกมากเพื่อไม่ทำให้ข้าวราคาตก และ 3.สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะช่วยในเรื่องของค่าบริหารจัดการและการปรับปรุงคุณภาพ รายละไม่เกิน 20 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท
“ในอดีตนั้นเราแบ่งออกเป็น 2 ก้อน ก้อนที่หนึ่งก็คือต้นทุน 500 บาท กับเรื่องของค่าเก็บเกี่ยว 500 บาท ซึ่งในอดีตนั้นก็มีปัญหามาโดยตลอด เพราะค่าเก็บเกี่ยวบางครั้งเวลาเกิดภัยพิบัติ ไม่มีข้าวให้เก็บเกี่ยวก็เป็นประเด็นปัญหาว่าควรจะได้ 500 บาทหรือไม่ สุดท้ายจึงใช้วิธีเอามารวมกันให้ไร่ละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งเรียกว่าค่าบริหารจัดการและปรับปรุงคุณภาพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร” นายจุรินทร์ กล่าว
โดยที่ประชุมได้มอบหมาย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และกระทรวงพาณิชย์ จัดทำรายละเอียดโครงการประกันรายได้ มาตรการคู่ขนาน และงบประมาณตาม พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะฝ่ายเลขานุการ นบข. นำเสนอ ครม. ต่อไป โดยทั้งหมดนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.63 เป็นต้นไปจนกระทั่งสิ้นฤดูการผลิตประมาณเดือน พ.ค.64
รายงานข่าว แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ติดตามการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้ภาครัฐได้บริหารจัดการในหลายด้าน ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกข้าวสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้คาดการณ์เป้าหมายการส่งออกข้าวปี 63 ไว้ที่ 7.5 ล้านตัน โดยมีปัจจัยสำคัญดังนี้ ไทยได้รับจัดสรรโควตาประมูลนำเข้าข้าวจากเกาหลีใต้ ขณะที่ญี่ปุ่นเปิดประมูลนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องจึงเป็นโอกาสการส่งออกข้าวไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียอาจนำเข้าข้าวในช่วงครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้าวไทยราคาสูงกว่าคู่แข่ง
ด้านการส่งออกข้าว ระหว่าง วันที่ 1 ม.ค. – 8 ก.ค.63 โดยอินเดียส่งออกอันดับ 1 ของโลก 4.65 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ เวียดนาม 4.17 ล้านตัน ไทย 3.15 ล้านตัน ปากีสถาน 2.07 ล้านตัน สหรัฐฯ 1.61 ล้านตัน การค้าข้าว สำหรับราคาข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ก.ค. 63 ปรับตัวลด เป็นไปตามทิศทางตลาดโลกและส่วนหนึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วย