“ส.ว.” จี้รัฐบาล ไขแนวทางรับมือ “ม็อบเยาวชนฯ” หวั่นขัดแย้งบานปลาย ซ้ำรอยปี 57
“ส.ว.” จี้รัฐบาล ไขแนวทางรับมือ "ม็อบเยาวชนฯ" หวั่นขัดแย้งบานปลาย ซ้ำรอยปี 57 ฟากรัฐบาลแจงพร้อมรับฟังข้อเสนอ กำชับเข้มเจ้าหน้าที่อดทนอดกลั้น ห้ามคุกคามปชช.
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ว่า เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นสร้างความไม่สบายใจให้กับคนในสังคมเป็นอย่างมาก จึงขอสอบถามว่า รัฐบาลมีความมั่นใจในการบริหารจัดการการชุมนุมทางการเมืองที่เชื่อได้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากนี้เป็นต้นไปให้มีความสงบเรียบร้อยได้อย่างไร รวมถึงแนวทางและนโยบายในการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร เพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจและมั่นใจว่าบ้านเมืองเราจะไม่กลับไปมีความขัดแย้งรุนแรงเหมือนเมื่อปี 2557
ด้านพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีตอบกระทู้ดังกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ห่วงใยผู้ชุมนุมอย่างมาก เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นห่วงเนื้อหาสาระในการแสดงออกของชุมนุมบางส่วนอาจที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งรัฐบาลทราบดีถึงสิทธิเสรีภาพที่รัฐบาลไม่สามารถไปปิดกั้นได้ แต่การใช้สิทธิเสรีภาพจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องไม่มีนัยยะแอบแฝง ไม่ละเมิดสถาบันฯ โดยเด็ดขาด หากมีการชุมนุมลักษณะนี้เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายในทุกกรณี โดยรัฐบาลมีแนวทางในการดูแลการชุมนุมให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด รวมถึงให้เจ้าหน้าที่อดทนอดกลั้น และชี้แจงด้วยเหตุและผล
ส่วนข้อเรียกร้องที่กลุ่มผู้ชุมนุมเสนอ 3 ข้อนั้น ฝ่ายรัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอ ซึ่งที่เรียกร้องให้มีการยุบสภานั้นเห็นว่าเป็นเรื่องทางการเมืองที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา ส่วนเรื่องการคุกคามประชาชนนั้นรัฐบาลได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการตามกฎหมายไม่ให้มีการข่มขู่คุกคามใดๆเกิดขึ้น และการแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐบาลได้ให้มีตั้งคณะกรรมาธิการการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากส่วนต่างๆ