ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ มิ.ย. โต 3% “ก่อสร้าง-อสังหาฯ-ขนส่ง” มาแรงหลังคลายล็อก
"กระทรวงพาณิชย์" เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ มิ.ย. โต 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบ “ก่อสร้าง-อสังหาฯ-ขนส่ง” มาแรงหลังคลายล็อก
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการจดทะเบียนธุรกิจในเดือน มิ.ย.63 ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศจำนวน 5,731 ราย เพิ่มขึ้น 145 ราย จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 3% และเมื่อเทียบกับเดือนพ.ค. 63 เพิ่มขึ้น 1,536 ราย คิดเป็น 37%
มูลค่าทุนจดทะเบียน ในเดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ 14,757 ล้านบาท โดยจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 4,323 ราย คิดเป็น 75.43% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 1,326 ราย คิดเป็น 23.14% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 69 ราย คิดเป็น 1.20% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 13 ราย คิดเป็น 0.23% ตามลำดับ
ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 612 ราย คิดเป็น 11% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 271 ราย คิดเป็น 5% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร จำนวน 188 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ
ขณะที่ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.63) มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศจำนวน 33,337 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 74 ราย หรือคิดเป็น 0.2% จากช่วงครึ่งปีของปีก่อน (ก.ค.-ธ.ค.62) ที่มีจำนวน 33,263 ราย แต่ลดลงจำนวน 4,885 ราย หรือคิดเป็น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ม.ค.-มิ.ย.62) ที่มีจำนวน 38,222 ราย
โดยมูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในครึ่งปีแรกของปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 104,571 ล้านบาท ลดลง 105,137 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50% จากช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อนที่มีจำนวน 209,708 ล้านบาท และลดลง 13,185 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 117,756 ล้านบาท ลดลงจำนวน 13,185 ล้านบาท คิดเป็น 11%
ด้านจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการในเดือน มิ.ย.63 มีจำนวน 1,336 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 5,132 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 111 ราย คิดเป็น 8% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 69 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 36 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ
ทั้งนี้ หากแบ่งตามช่วงทุน พบว่า จำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 923 ราย คิดเป็น 69.09% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 350 ราย คิดเป็น 26.20% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 59 ราย คิดเป็น 4.41% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 4 ราย คิดเป็น 0.30% ตามลำดับ
นายวุฒิไกร กล่าวว่า ธุรกิจที่ยังดำเนินกิจการทั่วประเทศ ณ วันที่ 30 มิ.ย.63 มีจำนวน 765,775 ราย มูลค่าทุน 18.44 ล้านล้านบาท จำแนกเป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 186,682 ราย คิดเป็น 24.38% บริษัทจำกัด 577,822 ราย คิดเป็น 75.46% และบริษัทมหาชนจำกัด 1,271 ราย คิดเป็น 0.16% ตามลำดับ
หากแบ่งตามช่วงทุน พบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 452,511 ราย คิดเป็น 59.09% รวมมูลค่าทุน 0.40 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.17% รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 225,544 ราย คิดเป็น 29.45% รวมมูลค่าทุน 0.75 ล้านล้านบาท คิดเป็น 4.07% ช่วงถัดไปคือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 71,858 ราย คิดเป็น 9.39% รวมมูลค่าทุน 1.95 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.57% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 15,862 ราย คิดเป็น 2.07% รวมมูลค่าทุน 15.34 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.19% ตามลำดับ
นายวุฒิไกร กล่าวว่า ในเดือนมิ.ย. มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น 56 ราย แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 22 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ 34 ราย โดยมีนักลงทุนต่างชาติลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 11 ราย หรือคิดเป็น 24% และมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 11,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 87 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.77%
โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 7 ราย เงินลงทุน 386 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 5 ราย เงินลงทุน 623 ล้านบาท และจีน จำนวน 2 ราย เงินลงทุน 330 ล้านบาท
ขณะที่ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.63) มีคนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจำนวน 355 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 58,407 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น 22 ราย หรือคิดเป็น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ม.ค.-มิ.ย.62) และมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 3,653 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7%
ธุรกิจที่ต่างชาติเข้ามาดำเนินการเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ และนโยบายในการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ ก่อสร้าง ติดตั้ง และทดสอบโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และบริการให้คำปรึกษาแนะนำและตรวจสอบการทำงานของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และบริการออกแบบพร้อมติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ รวมทั้งซ่อมแซมบำรุงรักษาสินค้าประเภทแผงโซล่าเซลล์ เป็นต้น