ก.ล.ต.ร่วมมือ นิติจุฬาฯ เปิดเฮียริ่งพัฒนาองค์กร-เพิ่มประสิทธิภาพบังคับใช้กม.

ก.ล.ต.ร่วมมือ นิติจุฬาฯ เปิดเฮียริ่งพัฒนาองค์กรกำกับตลาดทุน-เพิ่มประสิทธิภาพบังคับใช้กม.


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาตลาดทุนไทย โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นโครงการวิจัย เรื่อง “รูปแบบองค์กรของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน” และ “ประสิทธิภาพและกระบวนการบังคับใช้กฎหมายภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ” ผ่านช่องทางออนไลน์ในวันที่ 23 – 24 กรกฎาคม 2563

เปิดเผยว่า โครงการศึกษาวิจัยรูปแบบองค์กรของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยโครงสร้าง องค์ประกอบ บทบาท อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบในการวางนโยบาย การส่งเสริม พัฒนา และกำกับดูแลตลาดทุน ของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของประเทศไทย เพื่อให้สามารถรองรับพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงในตลาดทุนโดยการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจะจัดขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เวลา 9.30-11.30 น. สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านทาง Microsoft Team (virtual meeting) และ Facebook Live เพจสำนักงาน ก.ล.ต. หรือ เพจ Law Chula ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดเอกสารและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ htps://www.law.chula.ac.th/event/8840

สำหรับโครงการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพและกระบวนการบังคับใช้กฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยความเหมาะสมและประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งรวมถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับมาตรการลงโทษทางอาญา มาตรการลงโทษทางแพ่งและการดำเนินการทางปกครอง และกระบวนการดำเนินการในชั้นก่อนฟ้องคดีภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถป้องปรามการกระทำความผิด มีมาตรการและกระบวนการที่เหมาะสม เป็นธรรม และชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงเสนอแนวทางในการปรับปรุง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสัมมนารับฟังความคิดเห็นจะจัดในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 เวลา 9.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมแมนดารินซี โรงแรมแมนดาริน แมนเนจ บาย เซนเตอร์ พอยท์ (สามย่าน) หรือรับชม Facebook Live เพจสำนักงาน กลต. หรือ เพจ Law Chula

สำนักงาน ก.ล.ต. จึงขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาตลาดทุนไทย โดยเข้าร่วมในการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของทั้ง 2 โครงการวิจัย และร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งผลของการศึกษาวิจัยอาจนำมาสู่การปรับปรุง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

Back to top button