“สุริยะ” ชี้ปี 63-67 ภาคอุตฯ ต้องการแรงงานกว่า 1.9 ล้านคน ชูพัฒนาทักษะรับ New Normal
“สุริยะ” ชี้ปี 63-67 ภาคอุตสาหกรรม ยังมีความต้องการแรงงานกว่า 1.9 ล้านคน ชูพัฒนาทักษะรับ New Normal
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยยังมีความต้องการแรงงานอยู่อีกมาก ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงความต้องการแรงงานในช่วง 6 ไตรมาส (ม.ค. 62 – ก.ค. 63) จากโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการแล้วแต่ยังไม่ได้แจ้งประกอบกิจการ มีความต้องการแรงงานอีกกว่า 141,593 คน
โดยอุตสาหกรรมที่มีความต้องการทางด้านแรงงานสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมพลาสติก ประกอบกับความต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและ โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร) ปี 2563 – 2567 มีประมาณ 1,695,117 คน โดยมีความต้องการในระดับวิชาชีพจำนวน 735,373 คน ระดับอุดมศึกษาจำนวน 959,744 คน ซึ่งจะช่วยรองรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้
“การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลที่จำเป็นเพื่อใช้ประกอบในการกำหนดแนวทางการพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรมของประเทศ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพังได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการพัฒนาทักษะกำลังคนจำเป็นต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา และแรงงาน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือดูแลเพื่อฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้” นายสุริยะ กล่าว
ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) จะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการยุคใหม่ที่เกิดขึ้นทั้งในอนาคตและสถานการณ์โควิด-19 เห็นได้จาก 3 อุตสาหกรรมหลักที่ได้รับอานิสงส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากทั่วโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์รักษาโรค และอาหาร โดยจะต้องเตรียมศักยภาพแรงงานไทยให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่ ดังนี้
1.ด้านความต้องการแรงงาน (Demand Side) พัฒนาระบบนิเวศด้านแรงงาน (Labour Ecosystem) เพื่อรองรับการพัฒนาแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ระหว่างกัน จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงานในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย จัดทำฐานข้อมูลความต้องการด้านแรงงานทั้ง Demand Side และ Supply Side เพื่อให้สามารถพัฒนานักศึกษา ครูผู้สอน ให้ตรงกับทิศทางความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม พัฒนาการวิจัยและเทคโนโลยี ยกระดับทักษะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนด้านทุนวิจัยที่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม พัฒนาฐานข้อมูลความต้องการบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของสถานประกอบการและฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ให้ทันสมัยสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง
2.ด้านการผลิตแรงงาน (Supply Side) เพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาให้เอื้อต่อการพัฒนากำลังคนในภาคอุตสาหกรรม จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมแบบเข้มข้นในระยะสั้นเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมระบบการศึกษาทางไกลผ่านระบบออนไลน์ (E-learning) เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาตนเอง ส่งเสริมภาพลักษณ์การอาชีวศึกษา เร่งปรับค่านิยม และวางรากฐานทักษะอาชีพให้แก่ผู้เรียนตั้งแต่วัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาทักษะและองค์ความรู้ของแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ในระยะสั้น เน้น On the Job Training และ Train the Trainer เพื่อผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ระหว่างกัน