สื่อนอก มองความเปลี่ยนแปลง “ธุรกิจโรงภาพยนตร์” ผ่าน 2 ชาติมหาอำนาจ หลังเผชิญวิกฤต “โควิด”

สื่อนอก มองความเปลี่ยนแปลง “ธุรกิจโรงภาพยนตร์” ผ่าน 2 ชาติมหาอำนาจ อย่าง สหรัฐฯ และจีน หลังเผชิญวิกฤต "โควิด" ชี้กระทบอุตสาหกรรมหนัง เป็นลูกโซ่ สูญเสียรายได้มหาศาล


สำนักข่าวซินหัว รายงานถึงสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจโรงภาพยนตร์ 2 ประเทศมหาอำนาจ อย่าง สหรัฐฯ และจีน ยุคหลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

โดยระบุว่า แม้ว่าโรงภาพยนตร์ในสหรัฐฯ และจีน จะยังไม่เปิดให้บริการ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ดีคนในภาคธุรกิจซึ่งวางแผนเปิดโรงภาพยนตร์อีกครั้งตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนต่างเห็นตรงกันว่ายังเร็วเกินไป ที่จะประเมินความเสียหายถาวรที่เกิดขึ้น หลังจากโรงภาพยนตร์ต้องปิดทำการอย่างยาวนาน สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19

“ผู้จัดการโรงภาพยนตร์ทั่วสหรัฐฯ ของเรา … กลับเข้าทำงานที่โรงภาพยนตร์อีกครั้งเพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับลูกค้าในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้” อดัม อารอน ซีอีโอของเอเอ็มซี (AMC Theaters) บริษัทโรงภาพยนตร์ประเภทหลายสาขารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. “และวันอันแสนสุขที่เราจะสามารถต้อนรับบรรดาแขกกลับสู่โรงภาพยนตร์ของเราในสหรัฐฯ อีกครั้ง คือวันพฤหัสบดีที่ 30 ก.ค.”

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงการเลื่อนฉายภาพยนตร์ฮอลลีวูด 2 เรื่อง ที่คาดว่าจะสามารถกวาดรายได้สูงสุด ได้แก่ “เทเน็ต” (Tenet) ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน และ มู่หลาน (Mulan) ไลฟ์แอกชันจากดิสนีย์ อารอน ระบุว่า เอเอ็มซียังคงเฝ้ารอวันที่โรงภาพยนตร์ในเครือจะกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็พยายามปฏิบัติตามขั้นตอนด้านความปลอดภัย

เอเอ็มซีเลื่อนกำหนดเปิดโรงภาพยนตร์ราว 600 แห่งในสหรัฐฯ จากกลางเดือน ก.ค. ไปเป็นวันที่ 30 ก.ค. ส่วนโรงภาพยนตร์บางแห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่ำของจีนได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันจันทร์ (20 ก.ค.) ที่ผ่านมา พร้อมนำภาพยนตร์ชื่อดังที่คั่งค้างออกมาฉาย รวมถึงภาพยนตร์จากฮอลลีวูดอย่าง “โซนิก เดอะ เฮ็ดจ์ฮอก” (Sonic the Hedgehog) “ดูลิตเติล” (Dolittle) และภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์อย่าง “ฟอร์ด วี เฟอร์รารี” (Ford v Ferrari) “1917W และ “โจโจ แรบบิต” (Jojo Rabbit)

ข่าวดีจากฝั่งจีนทำให้ฮอลลีวูดรู้สึกสบายใจขึ้นมาบ้าง แม้จะรู้ว่าโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของจีนยังไม่เปิดทำการ หลังเริ่มกลับมาเปิดให้บริการบางส่วนเป็นเวลาสั้นๆ ช่วงกลางเดือนมีนาคม

ไม่มีตลาดใดจะสามารถแทนที่ตลาดขนาดยักษ์ของจีนได้ แม้จะเกิดปรากฎการณ์ใหม่ในสหรัฐฯ เมื่อโรงภาพยนตร์กลางแจ้งแบบไดรฟ์-อินที่เคยได้รับความนิยมช่วงทศวรรษ 1950-1960 กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง โดยผู้ชมสามารถดูภาพยนตร์กลางแจ้งบนจอภาพขนาดยักษ์และนั่งอยู่ในรถยนต์ของตนอย่างปลอดภัย แต่สหรัฐฯ ไม่มีโรงภาพยนตร์กลางแจ้งเช่นนี้ในจำนวนมากพอที่จะทำให้ภาพยนตร์ชื่อดังสามารถโกยรายได้บ๊อกซ์ออฟฟิศสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.5 หมื่นล้านบาท) ได้

“การนั่งดูภาพยนตร์อยู่ในโรงปิดที่ไม่มีหน้าต่างทำให้รู้สึกอึดอัด” มาร์ก คาร์เซน ประธานบริษัทเรลิชมิกซ์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเมื่อวันอังคาร (21 ก.ค.) โรงภาพยนตร์แบบไดรฟ์-อินจึงกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง แต่กว่าฟ้าจะมืดก็ 21.00 น. แล้ว คุณไม่สามารถดันยอดขายบัตรของภาพยนตร์ใหม่ๆ ผ่านโรงภาพยนตร์กลางแจ้งได้ มันจึงเหมาะสำหรับภาพยนตร์วินเทจมากที่สุด”

โดยเรลิชมิกซ์ (RelishMix) เป็นบริษัทวิเคราะห์แพลตฟอร์มเชิงสังคมหลายรูปแบบของฮอลลีวูด ทั้งภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ และสตรีมมิง โดยเป็นผู้ติดตามผลและยกระดับการมีส่วนร่วมของสังคมต่อภาพยนตร์หรือรายการออกใหม่

การปิดโรงภาพยนตร์แบบดั้งเดิมอย่างยาวนานส่งผลกระทบเป็นระลอก ทำให้บริษัทภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก-กลาง จำนวนมากในทั่วโลกต้องปิดตัวลง และจะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงหากโรงภาพยนตร์ยังไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ในฤดูใบไม้ร่วง

แรนซ์ พาว ประธานของอาร์ทิซาน เกตเวย์ (Artisan Gateway) บริษัทที่ปรึกษาด้านภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์ชั้นนำของเอเชีย กล่าวในงานแถลงข่าวช่วงต้นเดือนกรกฎาคมว่า “เนื่องจากยังไม่มีการยืนยันกำหนดการเปิดอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์อีกครั้ง จึงยังไม่สามารถกำหนดวันฉายภาพยนตร์ใหม่ได้ ภาพยนตร์ชื่อดังที่ประชาชนจำนวนมากตั้งตาคอยจะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ ว่าอุตสาหกรรมนี้จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างไร ตอนนี้เราอยู่ในฤดูร้อนและเราเสียโอกาสส่วนหนึ่งของฤดูกาลนี้ไปแล้ว”

พอล เดอร์การาเบเดียน (Paul Dergarabedian) จากคอมส์คอร์ องค์กรชั้นนำด้านการวิเคราะห์และประเมินสื่อรายงานว่า “จีนช่วยชีวิตภาพยนตร์มาแล้วหลายครั้ง มีภาพยนตร์บางเรื่องที่ทำยอดขายไม่ดีนักในทวีปอเมริกาเหนือ แต่มีผู้เข้าชมจำนวนมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีน”

โดก ครึตส์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมของโคเวน (Cowen) วาณิชธนกิจข้ามชาติของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับ เดอะ ฮอลลีวูด รีพอร์ตเตอร์ ว่า “ตอนนี้เราคาดว่าโรงภาพยนตร์ส่วนมากของประเทศจะปิดทำการไปจนถึงกลางปี 2021 เราไม่คิดว่าจะมีบริษัทไหนจะปล่อยภาพยนตร์ใหญ่ๆ ออกมาในช่วงที่มีการควบคุมการเข้าชมภาพยนตร์แบบนี้”

อย่างไรก็ตาม หากโรงภาพยนตร์ต้องปิดแบบไม่มีกำหนด จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งหมดตั้งแต่บริษัทเล็กๆ จนถึงกิจการรายใหญ่ คนในอุตสาหกรรมหวังว่ายักษ์ใหญ่ด้านออนไลน์ สตรีมมิงเช่น เน็ตฟลิกซ์ หรือ อ้ายฉีอี้ จะสามารถพยุงอุตสาหกรรมบันเทิงไว้ได้ขณะที่อุตสาหกรรมต้องปรับรื้อโครงสร้างครั้งใหญ่

ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงเริ่มปรากฏแล้ว เห็นได้จากเดิมทีดิสนีย์วางแผนฉายภาพยนตร์ “แฮมิลตัน” (Hamilton) ของลิน-มานูเอล มิแรนดา ในโรงภาพยนตร์ทั่วโลก แต่เมื่อไม่สามารถคาดเดาได้ว่าโรงภาพยนตร์จะกลับมาเปิดให้บริการเมื่อใด ดิสนีย์จึงนำมาฉายทางออนไลน์แทน ทำให้แพลตฟอร์มดิสนีย์พลัส (Disney+) หรือบริการสตรีมมิงจากดิสนีย์ทำเงินจากค่าสมัครสมาชิกเพิ่มกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.1 พันล้านบาท)

พอร์เตอร์ บิบบ์ อดีตผู้สื่อข่าวของนิวส์วีก (Newsweek) ผู้ตีพิมพ์นิตยสารโรลลิง สโตน และผู้สร้างภาพยนตร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเมื่อวันจันทร์ (20 ก.ค.) ว่ากำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น “จะมีภาพยนตร์ใหญ่ๆ หลายเรื่องมากขึ้น ที่ไม่เปิดตัวตามโรงภาพยนตร์แบบเดิม แต่เปลี่ยนไปฉายทางสตรีมมิง … แม้แต่โรงภาพยนตร์ใหญ่ๆ”

 

บิบบ์กล่าวชมบริษัทจีนที่สรรหาวิธีเชิญชวนให้ผู้ชมกลับไปใช้บริการโรงภาพยนตร์อีกครั้งได้อย่างน่าสนใจ เช่นการจัดรายการถาม-ตอบทางออนไลน์กับบรรดานักแสดงทันทีที่ภาพยนตร์จบลง

“นั่นเป็นวิธีที่แปลกใหม่มาก” บิบบ์กล่าวพร้อมยิ้ม “ผู้ชมจะไปที่โรงภาพยนตร์เพื่อเข้าร่วมการถาม-ตอบกับนักแสดง”

Back to top button