“โควิด” กดดันค้าโลก ฉุดส่งออกไทย มิ.ย. ติดลบ 23.17% รวมครึ่งปีแรก หด 7.09%

"กระทรวงพาณิชย์" ชี้ "โควิด" กดดันค้าโลก ฉุดส่งออกไทย ชะลอต่อเนื่อง มิ.ย. ติดลบ 23.17% รวมครึ่งปีแรก หด 7.09%


กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน มิ.ย.63 ยังชะลอตัวต่อเนื่องจากปัจจัยโควิด-19 กดดันการค้าโลก โดยการส่งออกมีมูลค่า 16,444 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -23.17% จากตลาดคาดว่าจะหดตัว -6.4 ถึง -15.0%

โดยเป็นการหดตัวมากกว่าเดือนพ.ค. ที่ -22.50% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 14,834 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -18.05% จากตลาดคาดติดลบ -18% ขณะที่ดุลการค้าเกินดุล 1,610 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่งผลให้ภาพรวมช่วง 6 เดือนแรกของปี 63 (ม.ค.-มิ.ย.) การส่งออกมีมูลค่ารวม 114,343 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -7.09% ส่วนการนำมีมูลค่ารวม 103,642 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -12.62% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 10,701 ล้านเหรียญสหรัฐ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน มิ.ย.63 ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากเดือน พ.ค. และถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 131 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ค.52

อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกของไทยเดือน มิ.ย.จะมีอัตราการติดลบมากกว่าเดือน พ.ค. แต่แนวโน้มเริ่มดีขึ้นทั้งรายสินค้าและรายตลาดที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ เนื่องจากหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนและราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยต่อการส่งออก

ทั้งนี้ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทย โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และสามารถรักษาอัตราการขยายตัวของการส่งออกภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายในหลายประเทศ เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพดี มีมาตรฐาน และปลอดภัย โดยสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องปรุงรสอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์เลี้ยง ผัก-ผลไม้สดแช่แข็งและแปรรูป รวมทั้งไข่ไก่ เป็นต้น

ขณะการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.63) หดตัว -15.2% ซึ่งมาจากปัจจัยการลดลงของสินค้าในกลุ่มรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากประชาชนชะลอการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่การส่งออกทองคำในช่วงไตรมาส 2 ยังเป็นบวกจากปัจจัยเรื่องความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังของไทยยังมีความท้าทาย โดยมีปัจจัยกดดัน ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้หลายประเทศในเอเชียจะเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดแล้วก็ตาม แต่ยังมีความเสี่ยงจากการล็อกดาวน์รอบสองได้ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับจีน, จีนกับอินเดีย ที่สร้างความไม่แน่นอนต่อนโยบายการค้าและเศรษฐกิจโลกได้ รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท ที่ส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาสินค้าของไทยด้วย

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกของไทย ได้แก่ การขนส่งที่คล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านเริ่มผ่อนคลายเปิดจุดผ่านแดนสำคัญ ทำให้สามารถขนส่งสินค้าได้หลายช่องทางมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้การใช้จ่ายภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว

ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกไปจีนจะยังคงสามารถขยายตัวได้ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ในขณะเดียวกัน ตลาดสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวได้ตามการเร่งเปิดเศรษฐกิจ

ผู้อำนวยการ สนค. ประเมินแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 63 โดยยอมรับว่ามีโอกาสจะหดตัวได้ -8 ถึง -9% ซึ่งในกรณีคือจะต้องส่งออกในแต่ละเดือนที่เหลือของปีนี้ให้ได้มูลค่าไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมองว่ายังมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะหากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายจะทำให้สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างมากเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ รวมถึงสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันด้วยเช่นกัน

          “คาดว่าทั้งปีน่าจะติดลบอยู่ในระดับ -8 ถึง -9% ซึ่งต้องยอมรับความจริง แต่เราก็จะพยายามผลักดันให้มูลค่าการส่งออกต่อเดือนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 18,000 ล้านดอลลาร์”

สำหรับสมมติฐานที่นำมาใช้ประเมินการส่งออกไทยปีนี้ คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ -5 ถึง -6% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 31.50-32.50 บาท/ดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่ 30-40 ดอลลาร์/บาร์เรล

Back to top button