“ฟินันเซียฯ-เคจีไอ” มองบวก GULF เพิ่มทุน หนุนฐานเงินแกร่ง-ต่อยอดธุรกิจดันกำไรโต!

“ฟินันเซียฯ-เคจีไอ” มองบวก GULF เพิ่มทุน หนุนฐานเงินแกร่ง-ต่อยอดธุรกิจดันกำไรโต!


จากกรณีที่ คณะกรรมการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF มีมติพิจารณาการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท จาก 10,666,500,000 บาท เป็น 11,733,150,000 บาท โดยการออกหุ้นสามัญที่ออกใหม่จำนวน 1,066,650,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท รวม 1,066,650,000 บาท เพื่อออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญเดิมของบริษัท ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) ที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 30 บาท ล่าสุด มีนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งออกมาให้ความเห็นโดยมีมุมมองในเชิงบวกเกี่ยวกับการเพิ่มทุน และแผนการลงทุนของ GULF

โดย บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์โดยคงมุมมองเชิงบวกต่อหุ้น GULF ในการเพิ่มทุนอีก 1,066,650,000 หรือ 10% ของทุนเดิม โดยให้ความเห็นว่า แม้ EPS จะ Dilute 10% แต่จะได้รับการชดเชยที่สูงยิ่งกว่าจากกำไรสุทธิที่คาดว่าจะสูงขึ้น 20% ในปี 2564 จากโครงการใหม่ๆของ GULF ซึ่งรวมถึงการถือหุ้น 50% ใน Wind farm (450MW) ในเยอรมนี (คาดกำไร 1.2 พันลบ.) และโครงการ LNG นำเข้า (คาดกำไรราว 400 ลบ.)

พร้อมกันนั้น เงินที่ได้จากการเพิ่มทุน 3.2 หมื่นล้านบาท จะนำมาใช้ในโครงการที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น Wind farm ในเยอรมนี (2 หมื่นลบ.) Wind farm ในเวียดนาม (410 MW) มอเตอร์เวย์ 2 เส้น (บางใหญ่-กาญจนบุรี และบางปะอิน-โคราช) และงานโครงสร้างพื้นฐานของ LNG Terminal เฟส 3 ที่มาบตาพุด ทั้งหมดนี้ บล.ฟินันเซียคาดว่า GULF จะใช้เงินลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นราว 1 แสนล้านบาท ระหว่างปี 2563-2567

โดยการเพิ่มทุน มองว่าเป็นการบ่งบอกถึงกลยุทธ์ การดำเนินงาน และการเพิ่มมูลค่า ที่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่จากการเข้าซื้อสินทรัพย์ตั้งแต่ปี 2562 และการที่ GULF เข้าลงทุนในสองโรงไฟฟ้าใหญ่ที่มีกำลังผลิตรวมกว่า 5GW ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงปี 2565-2567 และจะช่วยเพิ่ม EPS ได้ราว 63% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานเงินทุนที่มีก่อนที่จะเพิ่มทุน จึงมองว่าขณะนี้ GULF มีความพร้อมที่จะจัดหาเงินลงทุนให้กับโครงการใหม่ๆที่จะเข้ามาในช่วงหลังปี 2563 นี้

ทั้งนี้ ราคาที่ปรับตัวลงมาของ GULF จึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้าเก็บหุ้น เนื่องจากกำไรสุทธิที่บริษัทจะได้รับจากการลงทุนในโปรเจคต่างๆ นั้นจะเริ่มรับรู้ตั้งแต่ไตรมาส 2/2563 เป็นต้นไป โดยมีผลบวกจากราคาต้นทุนก๊าซที่ต่ำ การได้รับใบอนุญาตนำเข้าก๊าซ LNG และกำไรจากการลงทุนใน วินฟาร์ม BKR2 ที่คาดจะรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ เป็นปัจจัยหนุนกำไรสุทธิของ GULF

 

ด้าน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองบวกกับแผนเพิ่มทุน กรณีที่คณะกรรมการของ GULF มีมติให้เสนอที่ประชุม EGM พิจารณาแผนเพิ่มทุนจาก 1.066 หมื่นล้านบาทเป็น 1.173 หมื่นล้านบาท (เสนอขายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 10 หุ้นเดิม : 1 หุ้นใหม่ ที่ราคา 30 บาท/หุ้น) กำหนดขึ้น XR วันที่ 7 สิงหาคม 2563

โดยอัตราส่วน net IBD/E (2.0 เท่า) ทำให้ศักยภาพในการศักยภาพในการขยายการลงทุนจำกัด สำหรับการเข้าลงทุนในโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่ง Borkum 2 (225MWe) ทำให้อัตราส่วน net IBD/E เพิ่มขึ้นจาก 1.51 เท่า เป็น 2.0 เท่า (เนื่องจากมีการรวมหนี้ของโครงการนี้ และภาระหนี้ที่เกิดจาก bridge financing ในการเข้าลงทุนโครงการนี้) ทั้งนี้เพื่อให้บริษัทสามารถเข้าลงทุนโครงการอื่นๆ ที่อยู่ในแผนงานได้ บริษัทจึงต้องเพิ่มทุนซึ่งจะทำให้อัตราส่วน Net IBD/E กลับลงมาอยู่ที่ 1.2 เท่า ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถขยายการลงทุนได้อีกถึง 1.05 แสนล้านบาท กว่าที่อัตราส่วน net IBD/E จะชนเพดาน debenture covenant ที่ 3.5 เท่า

นอกจากนี้ การเพิ่มทุนจะเปิดโอกาสให้เข้าลงทุนในโครงการต่าง ๆ ในอนาคตได้มากขึ้น โดยผู้บริหารบอกว่าบริษัทกำลังศึกษาแผนลงทุนทั่วโลกอยู่หลายโครงการ อย่างเช่น โครงการพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐ โครงการพลังงานาน้ำในลาว (นอกเหนือจาก 3 โครงการที่อยู่ใน pipeline อยู่แล้ว) และโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งในยุโรป

ทั้งนี้ ประเมินว่าราคาเป้าหมายใหม่จะอยู่ที่ 37.25 บาท ลดลงจาก 40.25 บาท (dilution 7.4%) โดยใช้สมมติฐานว่าบริษัทจะใช้เงินระดมทุน 20% เพื่อชำระหนี้ และส่วนที่เหลือใช้ลงทุนในโครงการในอนาคตที่อยู่ในอนาคต อย่างเช่น โครงการ IPP ในประเทศไทย (บูรพา, หินกอง) โครงการโครงสร้างพื้นฐาน (ท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุดเฟสที่ 3 และ O&M มอเตอร์เวย์) และโครงการในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม และโอมาน ฯลฯ เราประเมินว่าจะมี upside อีก 11 บาท/หุ้นจากโอกาสในการลงทุนเพิ่ม (เงินกู้ 0.82 แสนล้านบาทซึ่งจะทำให้เพดาน net IBD/E ชน 3.0x)

โดยใช้สมมติฐานดังนี้ 1) Equity IRR ที่ 12% 2) ขยายกำลังการผลิตเพิ่มได้อีก 2,600MWe โดยมีต้นทุนการลงทุน 1.2 ล้านเหรียญ/MW) 3) อัตราส่วนหนี้สิน/ทุนที่ 75:25 และ 4) บริษัทถือหุ้น ร้อยละ 100 ในโครงการ

ทั้งนี้ ยังคงคำแนะนำซื้อ และให้ราคาเป้าหมาย ครึ่งปีหลังของปี 2564 ที่ 40.25 บาท (ก่อน XR) หรือ 37.25 บาท หลัง XR เรามองบวกกับแผนเพิ่มทุนของบริษัทเนื่องจากยังมี upside อีกจากการขยายธุรกิจผ่านการทำดีล M&A/การพัฒนาโครงการ green field ซึ่งมากกว่าผลของ dilution จากราคาหุ้น ซึ่งเราคาดว่าหลัง XR จะเกิด dilution 1.1%

สำหรับความเสี่ยงคือความล่าช้าในการจัดสรรกำลังการผลิตใหม่ การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ของทางการ โรงไฟฟ้าหยุดผลิตไฟฟ้า และเกิดความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการใหม่

Back to top button