“สบน.” จับมือ เอดีบี-รัฐวิสาหกิจ ออกพันธบัตร 3 หมื่นลบ. ระดมทุนฟื้นฟูศก.-สิ่งแวดล้อม

“สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ” (สบน.) จับมือ เอดีบี-รัฐวิสาหกิจ ออกพันธบัตร 3 หมื่นลบ. ระดมทุนฟื้นฟูศก.-สิ่งแวดล้อม เปิดขาย ส.ค.นี้


นางแพตริเชีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ออกพันบัตรเพื่อความยั่งยืนเป็นครั้งแรกของรัฐบาลไทย วงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท อายุ 15 ปี โดยในส่วนนี้จะมีทั้งการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และพันธบัตรเพื่อสังคมด้วย

ทั้งนี้ จะเปิดจำหน่ายพันธบัตรดังกล่าวให้กับนักลงทุนที่สนใจในเดือน ส.ค.63 ผ่านผู้จัดจำหน่าย 3 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)

โดยได้แบ่งการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเป็นโครงการขนส่งที่สะอาด ในวงเงินรวมไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท และจะมีการออกพันธบัตรภายใต้ พ.ร.ก.แก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) วงเงินรวมไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท

    “สบน. ยังมีแผนที่จะออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนสำหรับโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ตามแผนพัฒนาตลาดพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ให้มีสภาพคล่อง และสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน” นางแพตริเซีย กล่าว

พร้อมระบุว่า การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาลวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทนี้ เป็นการให้ รฟม.กู้ต่อ และเป็นการกู้ภายใต้ พ.ร.ก.โควิด-19 ส่วนการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ของ ธ.ก.ส. และการเคหะแห่งชาตินั้น หน่วยงานจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง

สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท มีการกู้ไปแล้ว 3.1 แสนล้านล้านบาท ใช้ไปแล้ว 2.97 แสนล้านบาท ใกล้เต็มวงเงินแล้ว และจะมีการกู้เพิ่มเติมเพื่อรองรับสำหรับการใช้ในโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้ สบน.ได้เปิดวงเงินกู้กับสถาบันการเงิน วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกู้มาสำรองแล้ว 1 หมื่นล้านบาท รวมกับพันธบัตรที่เตรียมออกในเดือน ส.ค. อีก 2 หมื่นล้านบาท จะนำไปใช้สำหรับโครงการเพื่อสังคมได้ ทั้งด้านสาธารณสุข การพัฒนาแหล่งน้ำ หรือการให้เงินเยียวยากับผู้มีรายได้น้อย

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 ตามแผนการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท จะต้องกู้ 6 แสนล้านบาท แต่คาดว่าจะกู้ไม่ถึงตามแผน เนื่องจากการพิจารณาโครงการใช้เงินกู้มีความล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะโครงการฟื้นฟูที่ขณะนี้มีการกู้เงินไปเพียง 2.93 แสนบาท จากกรอบ 4 แสนล้านบาท

ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า คณะกรรมการธนาคารฯ ได้อนุมัติให้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ในปีบัญชี 2563-2567 โดยในปีบัญชี 2563 จะจัดจำหน่ายพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม วงเงิน 6 พันล้านบาท เสนอขายต่อนักลงทุนสถาบัน ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 10 ราย ในรอบระยะเวลา 4 เดือน

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านการจำหน่ายพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะนำไปใช้สร้างพื้นที่ป่าและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการสินเชื่อปลูกป่าสร้างรายได้ สินเชื่อรักษ์ป่าไม้ไทยยั่งยืน สินเชื่อ Green Credit สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย และสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด พร้อมสนับสนุนและต่อยอดรูปแบบการปลูกป่าเพื่อการออม วนผลิตภัณฑ์ วนเกษตร การปลูกไม้เศรษฐกิจ สามารถสร้างพื้นที่ป่ามากกว่า 5 แสนไร่ มีต้นไม้เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านต้น และเกษตรกรได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 3.8 หมื่นครัวเรือน เกิดการจ้างงานมากกว่า 1.55 แสนราย

นายวิญญา สิงห์อินทร รองผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า กคช.มีแผนจะออกพันธบัตร เพื่อความยั่งยืนรอบแรกวงเงิน 6.8 พันล้านบาท ภายในเดือน ก.ย.63

Back to top button