GPSC จ่อปิดดีล 1 โครงการครึ่งปีหลัง-เร่งสรุปแผนร่วมมือ PTT รับโปรเจ็กต์ใหญ่

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้ …


นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมปิดดีลการเข้าซื้อกิจการ (M&A) อย่างน้อย 1 ดีล สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในต่างประเทศภายในครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพอร์ตธุรกิจพลังงานทดแทนให้ได้ตามเป้า 30% ภายใน 10 ปีข้างหน้า จากกว่า 500 เมกะวัตต์ (MW) หรือราว 11% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือที่มีอยู่ 5,026 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน

พร้อมกันนี้ยังอยู่ระหว่างสรุปรูปแบบความร่วมมือในธุรกิจไฟฟ้ากับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ซึ่งเป็นบริษัทแม่ รองรับการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นภายในไตรมาส 3/63 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งและช่วยบรรลุเป้าหมายการเติบโตของกลุ่มปตท. ที่มีเป้าหมายขยายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในระดับ 8,000 เมกะวัตต์ภายใน 10 ปีข้างหน้า (ปี 63-72) ซึ่งในระยะ 5 ปีแรกวางเป้าจะมีกำลังการผลิตที่ราว 3,000 เมกะวัตต์

“GPSC ยังเป็น Flagship เรื่องธุรกิจไฟฟ้าของปตท. แต่ถ้าการเติบโตที่เร็วมาก ๆ เราก็ต้องบูรณาการจุดแข็งร่วมกัน เช่น เรามีความรู้ มีคน มีข้อมูล แต่ปตท.มีความพร้อมมากกว่าเรา ถ้าปตท.มาร่วมด้วยจะทำให้มีแหล่งเงินมากขึ้นก็จะเข้าสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น ทางปตท.มีแผนชัดเจนอยู่แล้ว แต่ทาง GPSC มีความพร้อมในเรื่องรูปแบบ ที่เหลือปตท.ตัดสินใจว่ารูปแบบที่จะร่วมกันเป็นรูปแบบไหน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนร่วมกันในไม่ช้า ภายในไตรมาส 3 น่าจะเห็นแล้วว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร

ตอนนี้เราให้ความสำคัญการลงทุนกับประเทศที่เป็น Second Home Country ของเรา ประเทศที่เราพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมเข้าไปลงทุนที่เราสกรีนมาก็มีพม่า เวียดนาม ไต้หวัน เป็นต้น” นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวว่า ระหว่างที่รอความชัดเจนความร่วมมือกับปตท. ทางบริษัทก็จะดำเนินการทางธุรกิจต่าง ๆ ไปก่อน โดยเฉพาะดีลการซื้อกิจการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งโฟกัสในเมียนมา เวียดนาม ไต้หวัน เป็นต้น

ทั้งนี้ GPSC มีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือแล้ว 5,026 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 4,766 เมกะวัตต์ โดยมีการลงทุน 3 ประเทศ คือไทย ,ลาว และญี่ปุ่น  ขณะที่มีความสนใจร่วมลงทุนอย่างน้อย 4 โครงการในเมียนมา ได้แก่  โครงการ Gas to Power ขนาด 600 เมกะวัตต์ (MW)

โดยมี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากทางการเมียนมา ,โครงการผลิตไฟฟ้าป้อนเมืองใหม่ย่างกุ้ง ของ New Yangon Development Company (NYDC) ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ของปตท. ,โครงการความร่วมมือกับปตท. พัฒนาโครงการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งเป็นโครงการที่บมจ.โกลว์ พลังงาน เคยศึกษาไว้เดิม

สำหรับความคืบหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าป้อนเมืองใหม่ย่างกุ้ง ยังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดภายใต้สมมติฐานของความไม่ชัดเจนด้านความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ ทำให้เบื้องต้นคาดว่าการผลิตไฟฟ้าจะเป็นรูปแบบไฮบริดระหว่างโซลาร์และก๊าซธรรมชาติ โดยมีขนาดไม่มากนัก ซึ่งจะบริษัทจะทำการศึกษาให้มั่นใจคาดจะใช้ระยะเวลาพอสมควรก่อนจะนำเสนอข้อมูลไปยังทาง NYDC ต่อไป

ส่วนการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ขนาด 220 เมกะวัตต์ ในเมียนมา ของกลุ่มเอกชนไทยที่เข้าไปพัฒนานั้น บริษัทก็เคยเข้าไปศึกษาด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้เปิดดำเนินการไปแล้วในเฟสแรก 50 เมกะวัตต์ ส่วนเฟสที่ 2 ก็ใกล้ดำเนินการแล้วเสร็จเช่นกัน

“โครงการมี Tariff เขาดีมากเลย เราก็เคยไปดู ๆ เฟส 2 ก็ใกล้เสร็จแล้ว เขาก็มีเวลาจำกัดเหมือนกัน คงต้องไปถามเจ้าของโครงการ ที่เราเข้าใจเขามีระยะเวลาจำกัดเหมือนกัน”นายชวลิต กล่าวตอบกรณีความสนใจและโอกาสที่จะเข้าไปร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้ามินบูหรือไม่” นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในไทยนั้น บริษัทยังมองโอกาสการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในพื้นที่จ.ระยอง และพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยไม่ได้ให้ความสนใจการลงทุนโครงการดังกล่าวในพื้นที่ทั่วประเทศ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้จัดทำมาสเตอร์แพลนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการบริหารจัดการขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม รวมถึงโอกาสพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ EEC เพื่อช่วยบูรณาการความสมดุลด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

ส่วนความคืบหน้าโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ขนาด 9.8 เมกะวัตต์ ในจ.ระยอง ของบริษัทที่อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น มีความล่าช้าจากแผนเล็กน้อย โดยคาดว่าจะเริ่ม COD ได้ในไตรมาส 2/64 จากเดิมคาดในเดือนมี.ค.64

ด้านความสนใจต่อโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่คาดว่ารัฐบาลจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในอนาคตนั้น บริษัทและปตท.ได้ร่วมกันศึกษาในพื้นที่แนวท่อก๊าซธรรมชาติ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนและมีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปัจจุบันศึกษาอยู่ 4-5 พื้นที่

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อภาพรวมของความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศลดลงบ้าง แต่ในส่วนของบริษัทผลกระทบในช่วงครึ่งแรกของปีนี้นับว่าไม่มากนัก โดยมียอดขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมลดลงไปตัวเลขหลักเดียวที่ไม่มากนัก อย่างในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ขณะที่บางอุตสาหกรรมอย่างลูกค้ากลุ่มพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็กลับมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดการใช้โดยรวมในปัจจุบันยังไม่ได้กลับเข้ามามากนัก ซึ่งคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาบริษัทก็ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้า ด้วยการพยายามยืดหยุ่นสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าให้ดีที่สุดภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ลูกค้ากระทบน้อยที่สุด รวมถึงการเจรจากับลูกค้าเป็นระยะด้วย โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนขายไฟฟ้าเข้าสายส่งของการไฟฟ้า และขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม อย่างละ 50%

ขณะเดียวกันบริษัทก็ปรับตัวภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ด้วยการบูรณาการร่วมกันภายในกลุ่มบริษัท โดยเฉพาะกับบมจ.โกลว์ พลังงาน ภายหลังที่ได้ซื้อกิจการแล้วเสร็จ เพื่อเพิ่มจุดแข็งและสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกันในการจัดหา ลดค่าใช้จ่าย การบริหาร และบูรณาการโครงข่ายผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน (Synergy) ร่วมกันให้เร็วขึ้นมากที่สุด

นายชวลิต กล่าวอีกว่า สำหรับกลยุทธ์ของบริษัทในช่วง 5 ปีนี้ตามที่ได้เสนอแผนต่อการประชุมผู้บริหารระดับสูงกลุ่มปตท.เพื่อกำหนดยุทธ์ศาสตร์และทิศทางในอนาคตกลุ่ม (Strategic Thinking Session:STS) ครั้งที่ผ่านมา ประกอบด้วย

1. แผนกลยุทธ์ภายใต้ 3 S ได้แก่ Synergy การสร้างมูลค่าเพิ่มจากพลังร่วมในกลุ่ม GPSC บริษัทโกลว์ และ อื่น ๆ ที่บริษัทได้เข้าไปลงทุน , Selective Growth ซึ่งเป็นการเติบโตร่วมกับกลุ่มปตท. ในเป้าหมายของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน และ S-Curve ด้านนวัตกรรม อย่างการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งบริษัทเตรียมที่จะผลิตเซลล์แบตเตอรี่เซลล์แรกออกมาในเดือนธ.ค.63 และล่าสุดคณะกรรมการบริษัทอนุมัติสร้างนวัตกรรมทางด้านแบตเตอรี่ เพื่อที่จะทดสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่และสามารถพัฒนาศูนย์การผลิตให้เหมาะสมในเชิงพาณิชย์ และเพื่อให้ใช้เป็นสถานที่ทดสอบการจะขยายขนาดของโรงงานด้วยเม็ดเงินลงทุน 230 ล้านบาท

2.การบูรณการร่วมกับปตท.เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตในอนาคต และ 3. การพิจารณาเรื่องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) หรือ LNG Shipper ซึ่งจะต้องมีทางเลือกและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้บริษัทมีขีดความสามารถในการแข่งขันเทียบเท่ากับผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้ารายอื่น

โดยปัจจุบันได้ทำงานร่วมปตท. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รายใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งวงจร (Value Chain) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมดำเนินธุรกิจ LNG โดยคาดว่าจะสรุปผลวิธีการในการยื่นขอใบอนุญาตดังกล่าวอย่างไรในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า

“ใน 5 ปีข้างหน้ากำลังการผลิตของเราก็น่าจะเป็น 6,500 เมกะวัตต์ และมีธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้จาก new S-Curve ได้ด้วย คือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับแบตเตอรี่เป็นส่วนหนึ่งของเรา”นายชวลิต กล่าว

GPSC มีเป้าหมายที่เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 63-67) จำนวน 1,500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือแล้ว 5,026 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้ COD แล้ว 4,766 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีกราว 260 เมกะวัตต์อยู่ระหว่างการพัฒนา

ขณะที่ยังมีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า SPP Replacement จำนวน 7 โรง กำลังการผลิตรวมประมาณ 600 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นไป โดยตามแผนลงทุน 5 ปี GPSC จะใช้เงินลงทุนราว 6 หมื่นล้านบาท รองรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในมือ โดยเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากกระแสเงินสดที่เข้ามาแต่ละปีราว 1.8-2 หมื่นล้านบาท และเงินกู้อีกส่วนหนึ่ง

Back to top button