“ครม.” ไฟเขียวแผนปฏิบัติการ เขตสุขภาพพิเศษ 4 ด้าน งบ 5 พันลบ. พัฒนาระบบบริการ ใน พท.เฉพาะ
“ครม.” ไฟเขียว แผนปฏิบัติการ “เขตสุขภาพพิเศษ 4 ด้าน” วงเงิน 5 พันลบ. พัฒนาระบบบริการปชช. ในพท.เฉพาะ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษแห่งชาติ ระยะที่ 1 พ.ศ.2562-2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยเขตสุขภาพพิเศษหมายถึงพื้นที่ที่มีบริบทเฉพาะแตกต่างจากพื้นที่ปกติ และไม่สามารถใช้แนวทางบริหารจัดการงานด้านสาธารณสุขแบบทั่วไปเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม ประกอบด้วย เขตพื้นที่สาธารณสุขทางทะเล เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เขตพื้นที่สาธารณสุขชายแดน และเขตพื้นที่เฉพาะ (ประชากรต่างด้าว)
สาระสำคัญของร่างแผนปฏิบัติการฯ มีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ.2562-2565) กรอบวงเงินงบประมาณรวม 5,078.15 ล้านบาท (จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ สธ.) แยกเป็น ปี 2562 จำนวน 504.70 ล้านบาท, ปี 2563 จำนวน 1,664.87 ล้านบาท, ปี 2564 จำนวน 1,594.71 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 1,313.87 ล้านบาท
โดยมีพื้นที่เป้าหมายด้านสาธารณสุขทางทะเล 5 จังหวัด (ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี) ด้านเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง) ด้านสาธารณสุขชายแดน 4 จังหวัด (น่าน ตาก สระแก้ว และระนอง) และ ด้านเขตพื้นที่เฉพาะ (ประชากรต่างด้าว) 7 จังหวัด (ตาก ระนอง สมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และระยอง)
ร่างแผนปฏิบัติการฯ มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) ใน 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
1.ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง โดยมุ่งเน้นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในพื้นที่ให้มีความเชื่อมโยงกันเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับแต่ละพื้นที่
2.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันในการพัฒนาการบริการสาธารณสุขในบริเวณพื้นที่เฉพาะ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขเฉพาะด้าน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนด้านการแข่งขันของประเทศ
3.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ในการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีโดยเน้นปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ทันสมัยได้ตามมาตรฐานสากล
4.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ในการพัฒนาบริการด้านการแพทย์และด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับอย่างเพียงพอ สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับทุกกลุ่ม และสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เช่น แผนแม่บทการเสริมสร้างความมั่นคง แผนแม่บทการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และแผนแม่บทการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นต้น
รวมทั้งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนคือประชาชนมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นธรรมสำหรับประชาชนทุกกลุ่มในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพโดยประเทศสามารถรองรับค่าใช้จ่ายด้านหลักประกันสุขภาพได้อย่างยั่งยืน และมีแหล่งเงินที่เพียงพอสำหรับการจัดบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เกี่ยวกับประเด็นด้านสาธารณสุขใน 2 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยจัดบริการด้านสุขภาพให้กับประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และกระจายการให้บริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพให้ครอบคลุมและทั่วถึง และ 2.ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน โดยสร้างความร่วมมือในประเทศ/ต่างประเทศในการวางระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ