จับตา “ออมสิน” หลังประกาศรุกตลาด “นอนแบงก์” นำร่อง หั่นดบ. 8-10% ตั้งเป้าลดภาระปชช.
จับตา “ออมสิน” หลังประกาศรุกตลาด “นอนแบงก์” นำร่อง หั่นดบ. 8-10% ตั้งเป้าลดภาระปชช.
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงการนำธนาคารออมสินปรับบทบาทมุ่งสู่การเป็น Social Bank หรือ “ธนาคารเพื่อสังคม” อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อดูแลลูกค้าและประชาชน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย (พ่อค้าแม่ค้า) และองค์กรชุมชน เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม หลุดพ้นจากความยากจน ยกระดับรายได้ ต่อยอดเป็นผู้ประกอบการรายย่อย สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยปัจจุบัน ธนาคารฯ มีฐานลูกค้า 3 กลุ่มหลักนี้ถึง 12.8 ล้านราย หรือ 61.6% ของจำนวนลูกค้ารวม
สำหรับภารกิจแรกคือการนำธนาคารออมสินเข้าสู่ธุรกิจ Non-Bank อย่างเต็มตัวภายใต้การเป็น Social Bank ด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดในปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อย/ผู้มีรายได้น้อยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บรรเทาภาระดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบ และมุ่งเน้นสร้างกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยที่ลูกค้ากลุ่มฐานรากใช้บริการ Non-Bank ได้แก่ สินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เป็นต้น ซึ่งคิดอัตราในระดับสูงถึง 24-28% ต่อปี หรืออาจจะมากกว่านี้ โดยมีเป้าหมายจะลดภาระดอกเบี้ยของผู้กู้ลงให้ได้ 8-10% ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการได้ภายใน 6 เดือนจากนี้
“ภายใน 6 เดือน ธนาคารฯ จะแทรกเข้าไปในตลาด Non-Bank ที่มีมูลหนี้อยู่ 5 แสนล้านบาท เราต้องการเห็นดอกเบี้ยลดลง 8-10% โดยธนาคารฯ จะเข้าไปรีไฟแนนซ์สินเชื่อส่วนนี้ออกมา ก็หวังว่าจะช่วยทำให้ดอกเบี้ยของ Non-Bank ลดต่ำลงในที่สุด ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยคนได้จำนวนมาก” นายวิทัย ระบุ
นอกจากนี้ ธนาคารฯ จะจัดตั้งศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยที่มุ่งเป้าช่วยเหลือสร้างธุรกิจ โดยรวบรวมองค์ความรู้ในทุกด้านที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพและการทำธุรกิจ อาทิ กลุ่ม Street Food, กลุ่ม Homestay เป็นต้น เริ่มจากการให้ข้อมูลเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรม การคัดเลือกลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย การวางกลยุทธ์การตลาด และสร้างช่องทางการขาย/การหาลูกค้า ไปจนถึงการให้สินเชื่อ และการร่วมทุน โดยธนาคารออมสินจะเป็นหน่วยงานรัฐแห่งแรกที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างครบวงจร เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและยั่งยืน
นายวิทัย กล่าวต่ออีกว่า Digital Banking จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจ Social Bank ให้ประสบความสำเร็จ โดยจะถูกปรับบทบาทให้เข้ามาช่วยสนับสนุนงานของสาขา และจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนต้องปรับตัวสู่การใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ธนาคารฯ จึงเตรียมพัฒนาบริการลักษณะเฉพาะ หรือ Feature ใหม่ๆ บนแอปพลิเคชัน MyMo เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปสาขาแต่สามารถใช้บริการบนโทรศัพท์มือถือได้ อาทิ บริการปรับโครงสร้างหนี้ การให้บริการสินเชื่อแบบ Digital Lending ตลอดจนบริการเปิดบัญชีเงินฝาก (e-KYC) อีกด้วย ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ภายใน 6 เดือนนับจากนี้ไปเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกต่อไปอีก ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้กิจการค้าขาย/บริการ ธุรกิจต่าง ๆ ล้วนตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก จำเป็นต้องมีการปรับตัว ธนาคารออมสินจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับบทบาทของธนาคารออมสินมุ่งสู่ Social Bank จะเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้การใช้ชีวิตวิถีใหม่มีต้นทุนที่ลดลง ช่วยบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนและลูกค้าของธนาคารฯ ได้
ทั้งนี้ การประกาศวิสัยทัศน์ในการนำธนาคารออมสิน ปรับบทบาทมุ่งสู่การเป็น Social Bank มีขึ้นตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว แต่นับจากนี้คงต้องจับตาว่าการรุกธุรกิจนอนแบงก์ ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการกลุ่มนอนแบงก์เจ้าเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ อย่างไร