“สุริยะ” ชี้ MPI มิ.ย. ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งสัญญาณศก.ไทย ครึ่งปีหลังฟื้น เร่งใช้งบฟื้นฟู
“สุริยะ” ชี้ MPI มิ.ย. ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งสัญญาณศก.ไทย ครึ่งปีหลังฟื้น เร่งใช้งบตามแผนฟื้นฟู
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คาดว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะกลับมาฟื้นตัว หลังภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/63 ไปแล้ว ภายใต้เงื่อนไขว่าประเทศไทยจะไม่มีการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2
ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้น เห็นได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย.63 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 4.18% และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.48% เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวในอุตสาหกรรมสินค้าบริโภคที่จำเป็นตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (ไม่รวมน้ำตาล) ที่ยังขยายตัวได้ดี อาทิ ผลิตภัณฑ์ปลาแช่แข็ง ผักและผลไม้กระป๋อง นมผง และเบียร์ เช่นเดียวกันกับผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์รักษาโรค
นายสุริยะ กล่าวว่า ภาครัฐได้เตรียมดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจงบประมาณ 4 แสนล้านบาทที่จะเร่งฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งเสริมการบริโภคในประเทศให้เพิ่มขึ้น สร้างโอกาสให้ประเทศไทยกลับมาฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไปได้
สำหรับการผ่อนคลายการกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นผนวกกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนที่กลับมาขยายตัวขึ้นมาจากเดือนก่อนติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ถือเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรม โดยเป็นผลจากความร่วมมือรวมใจของคนไทยทั้งประเทศที่พร้อมฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ทำให้เราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเป็นที่ยอมรับและชื่นชมของชาวโลก สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักลงทุน ส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง
ประกอบกับการสนับสนุนให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากมาตรการเงินเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลในส่วนต่าง ๆ ที่คืบหน้าค่อนข้างมาก อาทิ มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 5,000 บาท มาตรการเยียวยากลุ่มเปราะบาง 3,000 บาท
รวมถึงการผ่อนคลายให้กิจกรรมและกิจการบางประเภทสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ โดยการผ่อนคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 3 ในวันที่ 1 มิ.ย. ระยะที่ 4 ในวันที่ 15 มิ.ย. และระยะที่ 5 ในวันที่ 1 ก.ค. จะช่วยสร้างให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ คืนกลับมา เช่นเดียวกันกับในหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มเอเชียและอาเซียน อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ฯลฯ ได้มีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ทำให้ความต้องการสินค้า (โดยเฉพาะอาหาร) จากต่างประเทศเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้งซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทย
ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง ปัญหาทางด้านการขนส่งสินค้าและการขาดแคลนวัตถุดิบได้บรรเทาลง ช่องทางการขายทั้งในและต่างประเทศกลับมาค้าขายได้อีกครั้ง จึงทำให้อุตสาหกรรมหลักของไทยบางประเภทกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องยนต์ ที่กลับมาขยายการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 27.05% อุตสาหกรรม Hard Disk Drive ขยายการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 15.35% อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 29.80% และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ขยายการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 7.39%
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมหลักจะส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.ค.จะมีการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (Month-on-Month : MoM) และจะมีการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนในเดือนต่อไปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง