สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 30 ก.ค. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 30 ก.ค. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (30 ก.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 หดตัวรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 70 ปี นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับข่าวโดนัลด์ ทรัมป์เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐออกไปจากกำหนดเดิมที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย. อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ปิดตลาดในแดนบวก โดยได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ก่อนที่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ซึ่งรวมถึงแอปเปิลและอัลฟาเบท จะเปิดเผยผลประกอบการ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,313.65 จุด ลดลง 225.92 จุด หรือ -0.85% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,246.22 จุด ลดลง 12.22 จุด หรือ -0.38% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,587.81 จุด เพิ่มขึ้น 44.87 จุด หรือ +0.43%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (30 ก.ค.) โดยได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทจดทะเบียนในยุโรปเปิดเผยผลประกอบการที่อ่อนแอเกินคาด, ภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวของเยอรมนี และการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจากเดือนพ.ย.ปีนี้

ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 2.16% ปิดที่ 359.52 จุด

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,379.65 จุด ร่วง 442.61 จุดหรือ -3.45%, ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,852.94 จุด ร่วง 105.80 จุดหรือ -2.13% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,989.99 จุด ร่วง 141.47 จุด หรือ -2.31%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (30 ก.ค.) โดยถูกกดดันจากการเปิดเผยผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทจดทะเบียนของอังกฤษ ขณะที่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งในสหรัฐ และการทรุดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐถ่วงตลาดลงด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,989.99 จุด ร่วงลง 141.47 จุด หรือ -2.31%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 40 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (30 ก.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ซึ่งรวมถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ที่หดตัวรุนแรงสุดในรอบกว่า 70 ปี นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในสหรัฐและทั่วโลกอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 1.35 ดอลลาร์ หรือ 3.3% ปิดที่ 39.92 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 81 เซนต์ หรือ 1.9% ปิดที่ 42.94 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (30 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากราคาทองคำพุ่งขึ้นติดต่อกัน 9 วันทำการ ขณะเดียวกันนักลงทุนซึมซับข่าวธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยและให้คำมั่นว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 9.9 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1,966.8 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 95.9 เซนต์ หรือ 3.94% ปิดที่ 23.362 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 45.9 ดอลลาร์ หรือ 4.79% ปิดที่ 912.6 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 126.30 ดอลลาร์ หรือ 5.6% ปิดที่ 2,134.90 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (30 ก.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 หดตัวรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 70 ปี นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับข่าวโดนัลด์ ทรัมป์เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐออกไปจากกำหนดเดิมที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย.

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.49% แตะที่ 93.0219 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 104.82 เยน จากระดับ 105.03 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9096 ฟรังก์ จากระดับ 0.9138 ฟรังก์ แต่หากเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3443 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3364 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1837 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1764 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3085 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2961 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7175 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7168 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button