“ธปท.” เผยเสถียรภาพ ศก.ไทย มิ.ย. ยังเปราะบาง ท่องเที่ยว หดตัวสูง-ว่างงาน เพิ่มต่อเนื่อง

“ธปท.” เผยเสถียรภาพ ศก.ไทย มิ.ย. ยังเปราะบาง ท่องเที่ยว หดตัวสูง-ว่างงาน เพิ่มต่อเนื่อง


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย.63 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำ เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวหดตัวสูงต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังคงมีอยู่

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบ สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ขณะที่ในส่วนของตลาดแรงงาน จำนวนผู้ว่างงานยังเพิ่มสูงขึ้น ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดใกล้สมดุล ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุว่า ในเดือนมิ.ย.63 มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว  24.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน หดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวลดลงที่ 18.4% น้อยลงมากเมื่อเทียบกับ 29.0% ในเดือนก่อน ตามการส่งออกที่ปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นตามการทยอยเปิดเมืองของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี อัตราการหดตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้ายังอยู่ในระดับสูง สะท้อนรายได้ของประเทศคู่ค้าที่ยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ หมวดสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายปรับดีขึ้นในทุกหมวดเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ประกอบกับได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐ อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังคงหดตัวสูง สอดคล้องกับปัจจัยด้านรายได้และความเชื่อมั่นที่ยังคงอ่อนแอ ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับดีขึ้น ทั้งยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ ยอดจดทะเบียนรถยนต์ และการนำเข้าสินค้าทุน ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวสูงขึ้นตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวสูง สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอ กำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังอยู่ในระดับสูง และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่แม้ปรับดีขึ้นบ้างแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 18.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้าสำคัญ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน ส่วนหนี่งเป็นผลของฐานที่ต่ำ

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายประจำขยายตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ส่วนรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลางเพื่อซ่อมบำรุงถนนเป็นสำคัญ ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องที่ 100% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบต่อเนื่อง แม้จะติดลบน้อยลงจากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบเล็กน้อย สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ สำหรับตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดใกล้สมดุล ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์จากการขายสุทธิตราสารหนี้และการถอนเงินฝากในต่างประเทศของนักลงทุนไทย และด้านหนี้สินจากการกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้

ขณะที่ในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวสูง จากผลของมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว โดยอุปสงค์ต่างประเทศหดตัวสูง ทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ และภาคการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลงมาก ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวสูง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้และมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นบวกเล็กน้อย ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยจากที่เกินดุลสูงในไตรมาสก่อน จากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงมาก ประกอบกับเป็นฤดูกาลส่งกลับกำไรและเงินปันผลกลับต่างประเทศของบริษัทต่างชาติในไทย ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน

 

Back to top button