สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 31 ก.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 31 ก.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (31 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีชั้นนำ อาทิ แอปเปิล, แอมะซอน.คอม และเฟซบุ๊ก หลังจากบริษัทเหล่านี้เปิดเผยรายได้และผลกำไรสูงเกินคาดในไตรมาส 2/2563 อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการรอบใหม่ของรัฐบาลสหรัฐในการเยียวยาผลกระทบของโรคโควิด-19 นั้น ยังคงทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นได้ไม่มากนัก
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,428.32 จุด เพิ่มขึ้น 114.67 จุด หรือ +0.44%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,271.12 จุด เพิ่มขึ้น 24.90 จุด หรือ +0.77% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,745.27 จุด เพิ่มขึ้น 157.46 จุด หรือ +1.49%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อวันศุกร์ (31 ก.ค.) และปรับตัวลงรายเดือนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาท่ามกลางความไม่แน่นอนมากขึ้นเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความวิตกว่า โรคดังกล่าวจะเกิดการระบาดรอบสอง
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.89% ปิดที่ 356.33 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,313.36 จุด ลดลง 66.29 จุด หรือ -0.54% ขณะที่ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดวันทำการล่าสุดที่ 4,783.69 จุด ลดลง 69.25 จุด หรือ -1.43% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,897.76 จุด ลดลง 92.23 จุด หรือ -1.54%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อวันศุกร์ (31 ก.ค.) ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 สัปดาห์ โดยถูกกดดันจากการที่อังกฤษเลื่อนการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความวิตกว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคระบาด จะล่าช้าออกไป
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,897.76 จุด ร่วงลง 92.23 จุด หรือ -1.54%
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (31 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อทองในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 19.1 ดอลลาร์ หรือ 0.97% ปิดที่ 1,985.9 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาทองคำ เพิ่มขึ้น 4.7% และปรับตัวขึ้น 10.3% ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2559
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. พุ่งขึ้น 85.4 เซนต์ หรือ 3.66% ปิดที่ 24.216 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 6.3 ดอลลาร์ หรือ 0.69% ปิดที่ 918.9 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 10.40 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 2,145.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ (31 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงไม่มั่นใจในทิศทางตลาด ขณะที่แนวโน้มอุปสงค์น้ำมันยังไม่แน่นอนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจากผลกระทบของโรคโควิด-19 และปริมาณน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น หลังประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการผลิต
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 35 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 40.27 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 27 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 43.52 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (31 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์เพื่อชดเชยการทำชอร์ตเซลหลังจากดอลลาร์ร่วงลงในเดือนก.ค.รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐที่เพิ่มขึ้นในเดือนมิ.ย.
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.38% แตะที่ 93.3749 เมื่อคืนนี้ แต่ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดอลลาร์ ลดลง 1.14%
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.77 เยน จากระดับ 104.82 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9138 ฟรังก์ จากระดับ 0.9096 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3384 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3443 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1782 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1837 ดอลลาร์ และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3101 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3085 ดอลลาร์ ขณะที่ดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าสู่ระดับ 0.7145 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7175 ดอลลาร์สหรัฐ