“ม.หอการค้าฯ” หั่นคาดการณ์ GDP ปี 63 หดวูบ 9.4% เซ่นมาตรการล็อกดาวน์ สกัด “โควิด”

“ม.หอการค้าฯ” หั่นคาดการณ์ GDP ปี 63 หดวูบ 9.4% เซ่นมาตรการล็อกดาวน์ สกัด “โควิด”


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ม.หอการค้าไทย ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ใหม่ โดยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงเหลือ -9.4% จากเดิมเคยคาดการณ์ไว้ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ -4.9% ถึง -3.4% เนื่องจากผลกระทบสำคัญเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้มีการปิดเมืองและการเลิกจ้าง ส่งให้กำลังซื้อในระบบหดตัวอย่างรุนแรง

ขณะเดียวกันได้ปรับลดมูลค่าการส่งออกไทยปีนี้ลงเหลือ -10.2% นำเข้าเหลือ -19.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ระดับ -1.5% การบริโภคภาคเอกชน -2.6% การอุปโภคภาครัฐ 4.5% การลงทุนภาคเอกชน -13.6% การลงทุนภาครัฐ 7.7% ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพี 1% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ -82.3% หนี้สินภาคครัวเรือนต่อจีดีพี 90.5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่ามีโอกาสถึง 60% ที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะหดตัวเหลือ -9.4% จากสมมติฐานที่ว่าปริมาณการค้าโลกปีนี้ ลดลง -9% จากปีก่อน, ประเทศไทยจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกครั้ง (ภายใต้การจำกัดขอบเขตทั้งจำนวนและพื้นที่) ได้ตั้งแต่เดือน ต.ค.63 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ในปีนี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยประมาณ 7 ล้านคน หรือลดลงจากปีก่อน -82.3% ขณะที่คาดว่าเม็ดเงินงบประมาณตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ถูกอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจภายในปี 63 เพียงแค่ 25% หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท

สำหรับปัจจัยลบสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปี 63 ประกอบด้วย การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง, ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากกว่าระดับปกติ, ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง, มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้หนี้เสียของสถาบันการเงินเฉพาะของรัฐมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน

“เราคาดว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปีนี้รวมแล้วถึง 2.1 ล้านล้านบาท โดยเป็นเม็ดเงินที่หายไปจากมาตรการล็อกดาวน์ 1.5 ล้านล้านบาท การจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงไป 4.8 แสนล้านบาท และผลกระทบจากภัยแล้งอีกราว 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้เราต้องปรับลด GDP ปีนี้ลงเหลือเพียง -9.4% และมองว่าเศรษฐกิจมีโอกาสมากขึ้นที่จะติดลบเป็นเลข 2 หลัก” นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ ได้แก่ ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ, เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้, ภาคการผลิตและภาคบริการทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากการคลายล็อกดาวน์, ภาครัฐออกมาตรการเยียวยา กระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง, การลงทุนของภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และธนาคารกลางทั่วโลกต่างปรับนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลายมากขึ้น

นายธนวรรธน์ ระบุว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เตรียมจะออกมา ถือว่าเป็น 2 แพร่ง เพราะถ้าเป็นมาตรการที่ดีและแก้ปัญหาได้ตรงจุดจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว แต่ในทางกลับกันหากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดจะทำให้เศรษฐกิจซึมตัวแรงและลึกมากขึ้น และอาจจะเห็นตัวเลขคนตกงานในระดับล้านคนได้ในปีนี้

“หากการอัดฉีดเม็ดเงินทำได้ไม่รวดเร็วพอ เราจะเห็นการปลดคนงานภายใน 3 เดือนในบางกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อมีการปลดคนงาน จะทำให้กำลังซื้อลดลง การเก็บ VAT ได้น้อยลง เก็บภาษีเงินได้ได้ยากขึ้น ปัญหาการว่างงานจะเริ่มหนักขึ้นตั้งแต่เดือนพ.ย.เป็นต้นไป” นายธนวรรธน์ ระบุ

พร้อมกันนี้ ได้ฝากไปถึงทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลให้เร่งอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ, มีการเร่งอนุมัติปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยอาจปรับเงื่อนไขการกู้เงินเพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เช่น การเปิดให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ SMEs มากขึ้น, การขยายเวลพักชำระหนี้ออกไปจากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนต.ค.นี้, การกลั่นกรองโครงการที่ขอใช้เงินกู้หรือเงินงบประมาณปี 64 ควรให้น้ำหนักกับโครงการที่เน้นเพิ่มการจ้างงานในตำแหน่งงานที่ถาวร หรือเพิ่มกำลังซื้อในระบบ เช่น มาตรการชิมช้อปใช้, มาตรการช้อปช่วยชาติ เป็นต้น

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า หากประเทศไทยเริ่มมีวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ใช้ได้ในช่วงไตรมาส 1 หรือ 2 ของปี 64 เศรษฐกิจไทยปีหน้าก็มีโอกาสจะกลับมาเป็นบวกได้ที่ระดับ 4-5% และถ้าจะให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ในระดับเดียวกับก่อนที่จะเกิดเหตุการระบาดของไวรัสโควิดนั้น คาดว่าอยู่ในช่วงปี 65

Back to top button