อาเซียน-อียู เคาะแผนการค้า เดินหน้าฟื้นเจรจา FTA พร้อมร่วมแก้วิกฤต ศก.โลก หลัง “โควิด”

"กระทรวงพาณิชย์" เผยอาเซียน-อียู เคาะแผนการค้า เดินหน้าฟื้นเจรจา FTA พร้อมร่วมแก้วิกฤต ศก.โลก หลัง “โควิด”


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 25-27 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา

โดยในการหารือกับสหภาพยุโรป (อียู) ได้เห็นชอบแผนงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี 2563-2564 โดยจะเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ครั้งที่ 17 รับรอง ในวันที่ 29 ส.ค. 2563 ซึ่งจะช่วยยกระดับความสัมพันธ์การค้าและการลงทุน และเป็นการเตรียมพร้อมในการกลับมาเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-อียู

“การประชุมวันที่ 29 ส.ค. 2563 นอกจากจะให้การรับรองแผนงานดังกล่าวแล้ว ยังจะถือโอกาสหารือประเด็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกและภูมิภาค เช่น การรับมือและฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 การปฏิรูปองค์การการค้าโลก และหาแนวทางการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี รวมทั้งจะมีการหารือถึงการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอระหว่างอาเซียน-อียู ที่หยุดชะงักไปด้วย โดยปัจจุบัน อียูมีความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศในอาเซียนแล้วสองประเทศ คือ สิงคโปร์และเวียดนาม อยู่ระหว่างการเจรจากับอินโดนีเซีย และอยู่ระหว่างการพิจารณาฟื้นการเจรจากับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย” นางอรมนกล่าว

สำหรับการหารือกับออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ได้มีการติดตามการดำเนินงานภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) และความคืบหน้าการเตรียมการเจรจาเพื่อปรับปรุงความตกลง AANZFTA ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2552 ให้ทันสมัย ตอบสนองสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคการค้าดิจิทัล ซึ่งเบื้องต้นได้อนุโลมให้ใช้สำเนาใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกสารฉบับจริง เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ส่งออกมากขึ้นในช่วงโควิด-19

ส่วนผลการหารือกับจีน ได้ติดตามความคืบหน้าการใช้บังคับพิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน (ACFTA Upgrading Protocol) และการเจรจาเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติม โดยจะเริ่มหารือภายหลังการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในเดือน พ.ย. 2563 ซึ่งอาเซียนได้ย้ำต่อจีนว่าการลดภาษีต้องเป็นประโยชน์กับการค้าสองฝ่าย และต้องไม่มีมาตรการกีดกัน เช่น SPS รวมทั้งการเพิ่มความร่วมมือในสาขาอื่นๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTMs) เพื่อพัฒนาเป็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่อไป

ทางด้านการหารือกับเกาหลี ได้ติดตามการดำเนินงานภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (AKFTA) และการเจรจาเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการเจรจาหลังจากการลงนาม RCEP เสร็จสิ้นแล้ว โดยเกาหลียังได้แสดงความพร้อมในการสนับสนุนอาเซียนผ่านโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาทิ โครงการ Technology Advice and Solutions from Korea (TASK) ที่มีเป้าหมายจะจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมและศูนย์ความร่วมมือด้านมาตรฐานในอาเซียน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาประเทศที่จะจัดตั้งโดยคาดว่าจะสามารถจัดตั้งได้ในปี 2564

ขณะที่การหารือกับแคนาดา ได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการเจรจาจัดทำเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา โดยได้รับทราบความคืบหน้าการหารือด้านนโยบายการค้าของผู้เชี่ยวชาญอาเซียนและแคนาดา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. 2563 ที่ได้แลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องแรงงาน สิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งพบว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีความเห็นและระดับความคาดหวังที่ต่างกัน ที่ประชุมจึงเห็นควรจัดทำเอกสารอ้างอิง (Reference Paper) เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในเรื่องขอบเขต ความคาดหวัง และหัวข้อที่เห็นควรมีในการจัดทำเอฟทีเอระหว่างกัน เพื่อเป็นข้อมูลนำเสนอต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย ในการพิจารณาตัดสินใจเรื่องนี้

โดยในส่วนการเตรียมการของไทย กรมฯ จะจัดหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อมูลความคืบหน้าเรื่องนี้ และรับฟังความเห็นต่อการจัดทำเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา ต่อไป

สำหรับรัสเซีย ได้ร่วมกันพิจารณาผลการดำเนินงานตามแผนความร่วมมือการค้าและการลงทุนนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา (Post-2017 ASEAN-Russia Trade and Investment Work Programme) ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันผลักดันความร่วมมือในสาขาเกษตร พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน การเงิน และเทคโนโลยีดิจิทัล

นอกจากนี้ ล่าสุด คณะกรรมการร่วมอาเซียนและรัสเซียได้อนุมัติโครงการด้านการเกษตรและประมง อาทิ การบริหารจัดการน้ำเสีย และระบบเครือข่ายการสื่อสารเพื่อการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืนให้กับประเทศในอาเซียนอีกด้วย และยังได้หารือกับผู้แทนของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Commission : EEC) ซึ่งเป็นฝ่ายเลขาของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ที่มีสมาชิก 5 ประเทศ ประกอบด้วย รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน เพื่อหารือด้านความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ซึ่งที่ประชุมได้ให้ไฟเขียวกับข้อเสนอของ EEC ให้ขยายอายุแผนงานความร่วมมือระดับภูมิภาค (Programme of Cooperation : PoC) ระหว่างอาเซียนและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียออกไปจนถึงปี 2568 เพื่อให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือน ส.ค. 2563 พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้หารือกับญี่ปุ่น ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามพันธกรณีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ที่มีผลใช้บังคับกับไทยตั้งแต่ปี 2552 และการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษว่าด้วยการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 และรับทราบเรื่องความคืบหน้าการให้สัตยาบันพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลง AJCEP ของญี่ปุ่นและเวียดนาม ส่งผลให้พิธีสารดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค. 2563 ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่ให้สัตยาบันแล้ว ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ เมียนมา สปป.ลาว และเวียดนาม โดยพิธีสารฉบับใหม่นี้ จะเป็นการยกระดับความตกลง AJCEP ให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุนด้วย จากเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะเรื่องการเปิดตลาดการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

Back to top button