โบรกฯ แห่ดาวน์เกรด AOT ราคาเป้าลดฮวบ! มอง “ลบ” ปรับสูตรการันตีรายได้ อุ้ม “คิงพาวเวอร์”
โบรกฯ แห่ดาวน์เกรด AOT ราคาเป้าลดฮวบ! มอง "ลบ" ปรับสูตรการันตีรายได้ อุ้ม "คิงพาวเวอร์"
สืบเนื่องจากกรณีที่ คณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT อนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในสนามบินจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมีการเปลี่ยนวิธีการเก็บเงินการันตีขั้นต่ำจากกลุ่ม คิงพาวเวอร์ ผู้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่ในสนามบิน ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับรายได้ของ AOT ที่จะลดลง และกดดันราคาหุ้นก่อนหน้านี้ปรับลดลงหนัก ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายแห่งได้ออกมาปรับคำแนะนำ รวมถึงปรับลดราคาเป้าหมาย AOT ลง
โดย บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมีมุมมองเชิงลบกรณี AOT ให้ส่วนลดเงินการันตีขั้นต่ำโดยไม่เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เนื่องจากคาดว่าผลกระทบต่อ AOT จากการออกส่วนลดครั้งนี้จะอยู่ที่ 133,800 ล้านบาท ปรับลดคำแนะนำจาก “ซื้อ” เป็น “ขาย” และปรับลดราคาเป้าหมายจาก 70.50 บาท เป็น 45.50 บาท
ทั้งนี้ คาดรายได้ปี 2563-2565 อยู่ที่ 31,287 ล้านบาท 34,579 ล้านบาท และ 58,029 ล้านบาท ตามลำดับ จากรายได้ 62,783 ล้านบาทในปี 2562 ด้านกำไรสุทธิปี 2563-2565 คาดอยู่ที่ 4,685 ล้านบาท 6,126 ล้านบาท และ 19,288 ล้านบาท ตามลำดับ จากกำไรสุทธิ 25,026 ล้านบาทในปี 2562
ด้าน บล.ทิสโก้ คงคำแนะนำ “ซื้อ” แต่ปรับลดราคาเป้าหมายจาก 69.00 บาท เป็น 64.00 บาท โดยคาดว่าคิงพาวเวอร์จะได้ส่วนลดราว 4.8 พันล้านบาท และยังมีความไม่แน่นอนในสุวรรณภูมิเฟส 2 จะล่าช้าออกไปอีกแค่ไหน แต่ความล่าช้าของเฟส 2 จะส่งผลกระทบต่อ AOT คิดเป็นมูลค่า 4 บาท/ปี
โดย คาดรายได้ปี 2563-2565 อยู่ที่ 30,917ล้านบาท 19,466 ล้านบาท และ 57,424 ล้านบาท ตามลำดับ จากรายได้ 62,783 ล้านบาทในปี 2562
ด้านกำไรสุทธิปี 2563-2565 คาดอยู่ที่ 5,132 ล้านบาท 45 ล้านบาท และ 24,146 ล้านบาท ตามลำดับ จากกำไรสุทธิ 25,026 ล้านบาทในปี 2562
ขณะที่ บล.ไทยพาณิชย์ คงมุมมอง “ถือ” แต่ปรับลดราคาเป้าหมายจาก 67 บาท เป็น 63 บาท จากการออกส่วนลดให้กับคิงพาวเวอร์ คาด AOT จะประกาศขาดทุนจากการดำเนินงานในธุรกิจหลักในงบการเงินไตรมาส 3/2563 (เมษา-มิถุนา) อยู่ที่ 4.1 พันล้านบาท จากเดิมที่มีรายได้ 6.2 พันล้านบาท ไตรมาส 3/2562 และ 3.6 พันล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา โดยการขาดทุนนี้เป็นผลจากการลดลงของผู้โดยสารต่างชาติในสนามบินถึง (ลดลง 99% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และลดลง 99% จากไตรมาสก่อน) และเที่ยวบินต่างประเทศถูกระงับ
โดย คาดรายได้ปี 2563-2565 อยู่ที่ 29,454 ล้านบาท 40,343 ล้านบาท และ 54,492 ล้านบาท ตามลำดับ จากรายได้ 62,783 ล้านบาทในปี 2562
ด้านกำไรสุทธิปี 2563-2565 คาดอยู่ที่ 6,795 ล้านบาท 11,311 ล้านบาท และ 20,281 ล้านบาท ตามลำดับ จากกำไรสุทธิ 25,026 ล้านบาทในปี 2562
ด้าน Morgan Stanley คงมุมมอง “ขาย” ราคาเป้าหมาย 59 บาท พร้อมมุมมองเชิงลบต่อการให้ส่วนลดเงินการันตีขั้นต่ำต่อคิงพาวเวอร์ซึ่งจะส่งผลให้กระแสเงินสดของ AOT มีความไม่แน่นอนสูงกว่าเดิมมาก
โดย คาดรายได้ปี 2563-2565 อยู่ที่ 37,522 ล้านบาท 52,484 ล้านบาท และ 76,693 ล้านบาท ตามลำดับ จากรายได้ 62,783 ล้านบาทในปี 2562
อย่างไรก็ตาม เครดิตสวิส ยังคงมุมมอง Outperform หรือ “ซื้อ” และคงราคาเป้าหมายที่ 63 บาท โดยมองว่าการให้ส่วนลดเงินการันตีครั้งนี้ยังดีกว่าสูญเสียคิงพาวเวอร์ไป ซึ่งเครดิตสวิสคาดว่าหากมีการประมูลใหม่จะไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ได้เท่ากับคิงพาวเวอร์ และ AOT อาจมีรายได้ที่น้อยลงกว่าเดิมในระยะยาว โดยเครดิตสวิสชี้ว่า ในเกาหลี มีสัมปทานที่หมดอายุไปแล้ว และขณะนี้ไม่มีผู้ให้ความสนใจในการเข้าประมูล จึงทำให้ผู้ดำเนินการสนามบินในเกาหลี สเปน และจีน นั้นต้องเจรจา และปรับสัญญากับผู้ดำเนินการดิวตี้ฟรีในประเทศนั้นๆ และเครดิตสวิสมองว่าการปรับแผนครั้งนี้ตั้งอยู่บนความสมเหตุสมผลของ AOT
ขณะที่ ล่าสุดแหล่งข่าวจากตลาดทุน เปิดเผยว่า AOT ได้ส่งหนังสือชี้แจงผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาให้กรมธนารักษ์พิจารณาแล้ว โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสรุปการยกเว้นเก็บค่าเช่าให้กับ AOT ในปี 2563 ซึ่งวงเงินจะอยู่ที่ประมาณ 2.9 พันล้านบาทภายในสัปดาห์นี้
โดยแบ่งเป็นยกเว้นการจ่ายค่าตอบแทนการใช้ที่ราชพัสดุ สนามบินสุวรรณภูมิปี 2563 คิดแบบผลตอบแทนจากมูลค่าทรัพย์สิน (ROA) วงเงิน 900 ล้าบาท และการยกเว้นส่วนแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) อีก 2 พันล้านบาท ผันแปรตามรายได้ของ AOT
อนึ่งก่อนหน้านี้ AOT ได้ขอยกเว้น จากวิธีผลตอบแทนจากมูลค่าทรัพย์สิน (ROA) ปี 2563-2565 รวม 3 ปีรวด เป็นเงิน 2,862.857 ล้านบาท (ปี 2563 วงเงิน 900 ล้านบาท/ปี 2564 วงเงิน 981 ล้านบาท/ปี 2565 วงเงิน 981 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม กรมธนารักษ์จะพิจารณายกเว้นให้เป็นรายปี ซึ่งจะมีข้อสรุปในการหารือร่วมกันภายในสัปดาห์นี้
ขณะที่ ล่าสุดสำนักอัยการสูงสุดได้ส่งร่างแก้ไขสัญญาเช่าใหม่ ระหว่างกรมธนารักษ์ กับ AOT กลับมาแล้ว โดยจะเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เป็นส่วนแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) ทั้งหมดที่ปัจจุบันคิดอัตรา 5% เป็น 6-7% จากเดิมที่คิดด้วยวิธี ROA
ด้าน นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า กรณีที่กรมธนารักษ์เตรียมยกเว้นค่าเช่าบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT นั้น จะส่งผลดีต่อต้นทุนทางการเงินของบริษัทที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะทำให้ประมาณผลประกอบการปีนี้ของบริษัทดีขึ้น
“คาดว่านักวิเคราะห์จะมีการปรับตัวเลขประมาณการผลประกอบการของ AOT ใหม่ หลังจากที่ได้รับยกเว้นค่าเช่าสนามบินแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวเลขที่ได้รับยกเว้นจริงที่ออกมา” นายเทิดศักดิ์ กล่าว
สำหรับราคาเป้าหมายที่ให้ไว้ 57 บาท ซึ่งจะมีการทบทวนหลังจากที่งบของบริษัท ท่าอากาศยานไทย ออกมาอีกครั้ง หากมีแนวโน้มการฟื้นตัวดี
ขณะท่ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์แนะ”ถือ”หุ้นบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หลังราคาหุ้นปรับลดลงหนักก่อนหน้านี้จากการเยียวยาให้กับกลุ่มคิง เพาเวอร์ ค่อนข้างมาก แต่ล่าสุด AOT อาจได้ลดค่าเช่าจากกรมธนารักษ์ สูงสุด 2.9 พันล้านบาท ซึ่งอาจช่วยหนุนราคาหุ้นได้บ้าง
ด้านราคาหุ้น AOT ล่าสุด ณ เวลา 11.52 น. อยู่ที่ระดับ 51.25 บาท ปรับตัวขึ้น 1.50 บาท หรือ 3.02% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 624.91 ล้านบาท