“ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” คาด “กนง.” คงดอกเบี้ย 0.5% รอดูตัวเลข GDP ไตรมาส 2-ผลมาตรการรัฐ
“ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” คาดประชุม “กนง.” พรุ่งนี้ (5 ส.ค.63) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% รอดูตัวเลข GDP ไตรมาส 2 จากสภาพัฒน์-ผลมาตรการรัฐ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 ส.ค.นี้จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อรอดูภาวะเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะตัวเลข GDP ไตรมาส 2/63 ที่คาดว่าจะหดตัวลึกสุดในรอบปี โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะประกาศในวันที่ 17 ส.ค.นี้ หากตัวเลขหดตัวมากกว่าคาดก็จะเพิ่มแรงกดดันให้ภาครัฐต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
อีกทั้งคาดว่า กนง. คงจะรอติดตามประสิทธิผลของมาตรการการเงินและการคลังที่ได้ออกมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในระยะ 2 ที่ล่าสุด ได้มีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป 2-4% ต่อปี สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน พร้อมกับเพิ่มวงเงินหมุนเวียนสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล เพื่อช่วยลดภาระของภาคครัวเรือนและบรรเทาปัญหาหนี้เสียที่อาจเกิดขึ้น เพิ่มเติมไปจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทีมเศรษฐกิจใหม่ทั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ซึ่งตลาดคาดหวังว่าจะมีการออกมาตรการทางการเงินและการคลังชุดใหม่ที่สอดประสานกันในระยะข้างหน้า ดังนั้น กนง.คงจะยังไม่เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมที่จะถึงนี้ เพื่อรอดูมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาก่อน
“ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ขณะที่ความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลัง (policy space) มีจำกัดมากขึ้น ภาครัฐคงต้องพิจารณาออกนโยบายที่มุ่งเน้นให้มีประสิทธิผลมากที่สุด โดยธนาคารแห่งประเทศไทย คงพยายามดำเนินนโยบายด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ลดดอกเบี้ย แต่มุ่งเน้นนโยบายที่จะมีประสิทธิผลต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนโดยตรง และมีผลกระทบต่อกลไกทางเศรษฐกิจมากที่สุด” เอกสารเผยแพร่ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศก็ได้รับแรงกดดันจากภาวะการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายยังคงเป็นทางเลือกหนึ่งของ กนง. หากมีความจำเป็นในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยปัจจุบันมีการระบาดซ้ำในหลายประเทศที่ดูจะรุนแรงกว่าในรอบแรก ขณะที่การพัฒนาวัคซีนยังมีความไม่แน่นอน และคาดว่าจะใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะสามารถผลิตออกมาใช้อย่างกว้างขวางได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้าลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังเศรษฐกิจไทยที่มีการพึ่งพาภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวในระดับที่สูง ขณะที่มาตรการเยียวยาของภาครัฐในรอบแรกก็ใกล้จะสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ดี การว่างงานของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งกำลังซื้อและเศรษฐกิจในประเทศต่อไป โดยประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ทำให้ภาครัฐอาจจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า
สำหรับนโยบายทางการเงิน แม้ว่าจะเป็นที่เข้าใจได้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยิ่งเข้าใกล้ศูนย์ ประสิทธิผลของการปรับลดดอกเบี้ยก็จะยิ่งลดลง แต่หากสถานการณ์มีความจำเป็น อาทิ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทรุดตัวอย่างรุนแรง และยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดซ้ำ เป็นต้น การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายก็อาจยังคงมีความเป็นไปได้ในระยะข้างหน้า