“ภากร” แนะปรับตัวรับมือศก.ผันผวน เน้นความยืดหยุ่นทั้งใน-นอกองค์กร

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห …


นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยในสัมมนา “Thailand’s Investment Landscape Post Covid-19” หัวข้อ Resiliency for New Normal World ว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้โลกในปัจจุบันปรับตัวอย่างรุนแรง หลังจากมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเชื่อมต่อไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการค้า ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันทุกภาคส่วน ผลกระทบก็คือเมื่อที่ที่หนึ่งถูกกระทบ ที่อื่นในโลกก็จะมีผลกระทบในเชิงลบเช่นเดียวกัน

“ในวันนี้โลกได้เข้าสู่ช่วงเวลา VUCA ซึ่งเป็นโลกที่มีความผันผวนสูง (Volatility) มีความไม่แน่นอนสูง (uncertainty) มีความซับซ้อนค่อนข้างมากจากความเชื่อมต่อกันอย่างต่อเนื่อง (Complexity) และมีความคลุมเครือต่อเศรษฐกิจที่สุด (Ambiguity)”

สำหรับเหตุการณ์ในอดีตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรในหลายประเทศเป็นลบ ราคาน้ำมันในอนาคตเป็นลบ เป็นต้น แต่กลับมาเกิดขึ้นในปัจจุบันบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น ก่อให้เกิด Disruption หรือการทำให้ภาคธุรกิจทำงานได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย สะท้อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ทั่วโลกตกลงไปกว่า 10% ส่วนในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า GDP อาจจะติดลบเกือบ 8-9% ซึ่งสิ่งเหล่านี้มองว่าเป็น New Normal

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องติดตามต่อไป คือ เศรษฐกิจ บริษัท นักลงทุน ประชาชน จะปรับตัวอย่างไรเพื่อให้เข้ากับในโลกยุคใหม่นี้ ซึ่งหากไม่มีการปรับตัวก็อาจจะถูกสิ่งเหล่านี้มากระทบในเชิงลบค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม การที่จะสามารถปรับตัวได้ดีนั้นสิ่งสำคัญ คือ ความยืดหยุ่นขององค์กร (Resiliency) โดยจะแบ่งออกเป็น ความยืดหยุ่นภายในองค์กร และความยืดหยุ่นภายนอกองค์กร

สำหรับความยืดหยุ่นที่มาจากภายในองค์กรที่จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้มีเรื่องที่สำคัญอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่

1.ประสิทธิภาพการทำงานในองค์กรที่จะทำให้มีประสิทธิภาพในการปรับตัวและแข่งขันได้ เช่น กรณีของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำอย่างไรให้นำดิจิทัลมาให้บริการกับลูกค้าได้ดีขึ้น หรือเก็บข้อมูลของลูกค้ามาวิเคราะห์ได้ดีขึ้น

2.การนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ เพื่อให้เข้าใจความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้า และ 3.การเตรียม Mindset ของคนในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรเก่งๆ ที่พนักงานจะมีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำคือดีที่สุดอยู่แล้ว แต่ไม่ดูข้อมูลและไม่เก็บข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ หรืออาจจะมีแต่ไม่ได้ทำการวิเคราะห์อย่างสมบูรณ์แบบ

“อยากฝากเอาไว้ 3 เรื่อง ในการสร้างความยืดหยุ่นขององค์กร คือ ท่านต้องมีการเก็บข้อมูลต่างๆ ทำกระบวนการทำงานต่างๆ ของท่านให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ การนำดิจิทัลเข้ามาช่วย, การเอาข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ เพื่อดูว่าลูกค้าของท่าน คนที่ทำงานร่วมกับท่านได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ หรือจากการทำงานร่วมกับท่านอย่างไรบ้าง และเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ธุรกิจของเรา Stakeholder ของเรามีขนาดใหญ่ขึ้น และเรื่องสุดท้าย Mindset ของคนของเรา ความคิดหรือวิธีการทำงานต่างๆ จะทำอย่างไรให้เขาสามารถปรับตัวได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤติ” นายภากร กล่าว

ขณะที่ความยืดหยุ่นจากภายนอกองค์กร จะต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจเพื่อนำองค์กรไปแข่งขันในเรื่องนั้นๆ ผ่านการจับมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยให้ขยายธุรกิจให้เติบโตในอนาคตได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ ตลท.ก็ได้สอบถามไปยังบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศ ถึงการปรับตัวในช่วงที่ผ่านมา พบว่าบริษัทดังกล่าวได้มีการทำใน 3-4 เรื่องใหญ่ๆ คือ ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน การบริหารสภาพคล่อง, ต้องใช้นวัตกรรมให้มาก หาผลิตภัณฑ์ใหม่ หาความต้องการของลูกค้าโดยการใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์, ดูแลพนักงานให้ดี เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่ดีของบริษัท เช่น การซัพพอร์ตการทำงานจากที่บ้าน และการหาพันธมิตรที่ดี เพื่อเสริมจุดแข็ง

สำหรับ ในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ภาพของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงหลัง 13 มี.ค.63  ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงไปต่ำกว่า 1,000 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ลดลงจาก 17 ล้านล้านบาท เหลือ 14-15 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นวิกฤติที่ใหญ่มาก

ขณะเดียวกันพนักงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้มีการปรับตัวในเรื่องของ Digital Improvement ปรับปรุงโครงสร้างการทำงาน การให้บริการต่างๆ ที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น เช่น บริษัทจดทะเบียนไทยไม่จำเป็นต้องทำโรดโชว์แบบเดิม แต่เป็นการโรดโชว์แบบดิจิทัล มีการถามตอบผ่านระบบไมโครซอฟท์ ทีม (Microsoft Teams) หรือเว็บเอ็กซ์ (WebEx) เป็นต้น ฉะนั้นข้อมูลต่างๆ ที่ต้องการจะสื่อให้กับบริษัทจดทะเบียน และนักลงทุน สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้

นอกจากนี้ ในช่วงโควิด-19 มีการเปิดบัญชีของนักลงทุนรายย่อยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาถึง 1.5 แสนบัญชี จากปกติจะมีการเปิดบัญชีจำนวน 1.4-1.5 แสนบัญชี/ปี โดยเป็นการเปิดบัญชีแบบ E-open Account หรือเปิดบัญชีออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน เห็นได้ว่าการเกิดวิกฤติก็ทำให้เกิดโอกาสหากสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

อย่างไรก็ตามในช่วงโควิด-19 ตลท.ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่มีต่อกลุ่มบริษัทที่มีขนาดเล็ก ทั้ง SME, สตาร์ทอัพ ว่าจะหาสภาพคล่องในอนาคตได้อย่างไร ถ้ายังต้องพึ่งแหล่งระดมทุนแบบดั้งเดิม จึงมองไปถึงการให้บริการ “ฟันด์เรสซิ่ง” ของ SME และสตาร์ทอัพ ผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ขณะเดียวกันหากหุ้นในประเทศหนึ่งตก นักลงทุนจะทำอย่างไร จะสามารถ Diversify การลงทุนไปในประเทศอื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ ตลท.ยังมองถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์ในอนาคตที่จะต้องมีมากกว่า หุ้น, ตราสารหนี้, กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท), กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และจะทำอย่างไรให้นักลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศผ่านบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทย ผ่านระบบการซื้อขายออนไลน์ในประเทศไทย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ตลท.ได้มีการปรับตัวมาโดยตลอด

โดยในอนาคตการเปลี่ยนแปลงจะเป็นสิ่งเดียวที่เป็นความแน่นอน เห็นได้จากในอดีต ปี 53 ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมาร์เก็ตแคป อยู่ที่ 6.44 ล้านล้านบาท โดยองค์ประกอบในวันนั้น ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจพลังงานเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด คิดเป็น 30% ตามมาด้วยกลุ่มธุรกิจการเงิน 22%, อสังหาริมทรัพย์ 14% และบริการ 11% รวมถึงภาคเทคโนโลยี 9%

ขณะที่ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมาร์เก็ตแคป 15 ล้านล้านบาท เติบโต 2 เท่าภายใน 10 ปี โดยภาคอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ ภาคบริการ คิดเป็น 27% ตามมาด้วยภาคทรัพยากร 23%, อสังหาริมทรัพย์ 14%, ธุรกิจการเงิน 13% และเทคโนโลยี 10% ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ไม่มีวิกฤติ และหากเทียบกับในขณะนี้ที่อยู่ในช่วง VUCA หรือ New Normal ก็ทำให้เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ฝากถึงนักลงทุนให้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง วิเคราะห์ข้อมูล ข่าวสาร จากนักวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือ และมาวิเคราะห์ดูว่าการลงทุนที่เหมาะสมคืออะไร ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ส่วนผู้ประกอบธุรกิจ เน้นทบทวนการทำงานของบริษัท ดูว่าธุรกิจในปัจจุบันยังตอบโจทย์ลูกค้าในยุค New Normal หรือไม่ ถ้ายังไม่ตอบโจทย์ ต้องรีบปรับตัว โดยใช้วิถีที่มีความยืดหยุ่นที่ดีทั้งภายในและภายนอก

Back to top button