2 กูรูมอง ศก.ไทย หลัง “โควิด” ฟื้นแบบทุลักทุเล เสี่ยงเจอ NPL ทำไตรมาส 4 สะดุด
2 กูรู มองเศรษฐกิจไทย หลังวิกฤต "โควิด" ฟื้นแบบทุลักทุเล เสี่ยงเจอ NPL ทำไตรมาส 4 สะดุด ห่วงเอสเอ็มอีกลุ่มท่องเที่ยว สายป่านสั้นกระทบหนัก คนตกงานส่อทะลุ 5-6 ล้าน
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาธุรกิจการเงิน กลุ่มเกียรตินาคินภัทร กล่าวในงาน “Thailand’s Investment Landscape Post Covid-19” ว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบทุลักทุเลหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง โดยคาดว่าตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2/63 จะออกมาติดลบ 2 หลักและหลายคนมองว่าเศรษฐกิจน่าจะถึงจุดต่ำสุดเป็นผลจากการล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเกือบทั้งหมด
นายศุภวุฒิ กล่าวว่า อย่านึกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะมีตัวแปรบางตัวที่น่าเป็นห่วงว่าอาจทำให้เศรษฐกิจข้างหน้าสะดุด โดยเฉพาะการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ขอผ่อนปรนการชำระหนี้ตั้งแต่เดือน เม.ย.
โดยตัวเลขถึงจนถึงวันที่ 15 มิ.ย.มีผู้ขอผ่อนผันไม่จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย 16.2 ล้านบัญชี รวมมูลหนี้ราว 6.7 ล้านล้านบาท หรือกว่า 1 ใน 3 ของสินเชื่อในระบบ สะท้อนปัญหาคุณภาพสินทรัพย์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอีมีมูลหนี้ 2.2 ล้านล้านบาท จากจำนวน 1.1 ล้านราย น่าจะอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวหรือธุรกิจที่ไม่แข็งแรงมีสายป่านไม่มาก นอกจากนี้เป็นบัญชีรายย่อย 11.5 ล้านราย มูลหนี้ 3.77 ล้านล้านบาท
และเมื่อมาตรการผ่อนปรนของ ธปท.หมดลงในเดือน ต.ค.นี้ จะเห็นการปรับโครงสร้างหนี้ครั้งใหญ่ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่กล้าปล่อยกู้เพิ่ม จึงเชื่อว่าจะเป็นตัวฉุดรั้งการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และมีโอกาสไตรมาส 4 เศรษฐกิจสะดุดไปอีก
“ขนาดของปัญหาใหญ่กว่าตอนที่เกิดวิกฤติ 2540 มาก ที่มีคนตกงาน 1.5 ล้านคน แต่ครั้งนี้ 3 ล้านกว่าคน และอาจจะเห็น 5-6 ล้านคน” นายศุภวุฒิ กล่าว
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐด้วยการคลังที่ออกมาตรการ 1.9 ล้านล้านบาท ตัวเลขในช่วงที่ผ่านมาเห็นว่าเม็ดเงินเช้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ถึง 5 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการแจกเงิน 3 แสนกว่าล้านบาท แต่ที่เหลือเงินกู้ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทมีการใช้จริงไปเพียง 1 แสนล้านบาท ขณะที่กองทุนเสริมสภาพคล่องการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ 4 แสนล้านบาทแทบไม่ได้ใช้เลย และเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 4 แสนล้านบาทที่กำลังพิจารณาอนุมัติมาแล้วกว่า 8 หมื่นล้านบาท แต่ใช้จริงไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวนำมากระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มาก ประมาณ 3% ของจีดีพีเท่านั้น เปรียบเทียบกับที่สหรัฐฯ ให้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 10% และกำลังจะใส่เพิ่มอีก 5% ของจีดีพี และยุโรปแต่ละประเทศใช้เงิน 5% ของจีดีพี
นายศุภวุฒิ กล่าวอีกว่า หากโรคติดเชื้อไวรัสโควิดระบาดระลอกสอง ทำให้โควิดจะอยู่นานหรือกลายพันธุ์มาติดเชื้อง่ายขึ้น และคนตายมากขึ้นก็เป็นเรื่องน่ากลัวของโลก เพราะจะมีการ shut down กันอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในสหรัฐฯ ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 2.5 หมื่น และมีผู้เสียชีวิตวันละ 2-2.5 พันคน หรือ 10% มาช่วงหลัง หรือ ก.ค.จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเป็น 6-7 หมื่นราย แต่มีคนเสียชีวิตน้อยลง 500-1,500 คน ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่กลัวแม้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็มี Perform ดีที่สุด
นอกจากนี้ ตลาดรับทราบการคาดการณ์ว่าอีกราว 6-12 เดือนน่าจะมีวัคซีนโควิดผลิตออกมา ขณะที่สหรัฐฯ จะกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 3 จำนวน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นในซีกสหรัฐฯ จึงไม่กังวลมากนัก
แต่ในไทย ภาพความเสี่ยงที่โควิดจะกลับมาระบาดระลอกสอง มาจากกรณีที่มองว่าอินเดียมีผู้ติดเชื้อมากถึง 2 ล้านรายและมีพรมแดนติดกับเมียนมา และเวียดนามที่อยู่ติดกับกัมพูชา หากไทยมีความจำเป็นนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาคาดว่าจะมาจากทั้งสองประเทศนี้ และต้องยอมรับมีการนำเข้าแรงงานสีเทา ซึ่งความเสี่ยงน่าจะมาจากจุดนี้ ขณะเดียวกัน ไทยไม่ได้มีนโยบายการเงินการคลังเหมือนสหรัฐฯ และอียู
นายศุภวุฒิ ยังกล่าวเสนอแนะรัฐบาลว่า ต้องช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก่อน โดยก่อนเกิดโควิด งบการเงินอ่อนแออยู่แล้ว ถ้าให้เอสเอ็มอีมีสภาพคล่อง 2 ล้านล้านบาทหรือมีสภาพคล่องต่อไป 1-2 ปี และให้เวลา 5 ปีแล้วค่อย ๆ ฟื้น จะทำให้เอสเอ็มอีอยู่รอด และเอสเอ็มอีมีพนักงานราว 1 ล้านรายก็จะไม่ตกงาน แต่รัฐบาลไม่ได้ทำ และเงินช่วยเหลือก็กำลังจะหมดลง
“ส่วนตัวเห็นว่าแนวทางนี้ก็จะแก้ปัญหาตกงาน แต่รัฐบาลนำเงิน 4 แสนล้านบาทไปสร้างงานในต่างจังหวัด โดยคิดว่าเมื่อคนตกงานในเมืองจะกลับไปต่างจังหวัด แต่ตอนนี้ต่างกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เงินบาทออ่อนส่งออกสินค้าเกษตรได้ ขณะที่สหรัฐฯ ให้เงินกับผู้ประกอบการของเขาเพื่อให้ยังคงการจ้างงานต่อไป” นายศุภวุฒิ กล่าว
ขณะที่นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 แม้จะฟื้น แต่จะฟื้นแบบไม่ราบรื่น จะเป็นหลุมเป็นบ่อ ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะไม่ตกเหวรอบที่ 2-3 แต่เราจะตกหลุมไปเรื่อยๆ ต้องค่อยๆ แก้เป็นเปลาะ และมีแรงต้านที่เศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นตัวอย่างที่ควรเป็น ได้แก่ ทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็คุมโควิดไม่อยู่ และญี่ปุ่น เวียดนาม กลับมาระบาดระลอกสอง ซึ่งหากสหรัฐฯ มีการระบาดโควิดรอบสองคาดว่าเศรษฐกิจจะสะดุด แต่ในประเทศหลักเช่น จีน สามารถควบคุมการระบาดระลอก 2-3 ได้ก็ยังสามารถกลับมาดีขึ้นได้
ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยที่ฟื้นมา อาทิ ตัวเลขการผลิต ตัวเลขการส่งออก จะเป็นการฟื้นอย่างยั่งยืนหรือไม่ ขณะที่ปัญหาหนี้สิน ที่ผ่านมา ธปท.ร่วมกับภาครัฐออกมมาตรการประนีประนอมกับสถาบันการเงิน แต่ละแบงก์ก็มีการประวิงหนี้ แต่ตัวเลขไม่ใช่มาจากทางการ ทำให้ไม่เห็นภาพโดยรวมที่แท้จริง ซึ่งจากการคาดเดาอย่างน้อยสินทรัพย์ที่มีปัญหาหนี้สินประมาณ 2 ล้านล้านบาทขึ้นไป เทียบกับจีดีพีเกือบ 10% ดังนั้นถือเป็นปัญหาที่อยู่ใต้พรม สักวันก็ต้องออกมา และจะเป็นเรื่องหลักที่ทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจสะดุด
นายวิน กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้การผลิตวัคซีนจะต้องใช้เวลา แต่ตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นมาจากความคาดหวัง เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าจะให้เงินทุนกับบริษัทที่ผลิตวัคซีน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่าการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 จะออกมาอย่างเร็วสุดปลายปี 63 และประเทศที่มีเงินมากก็จะได้รับวัคซีนไปใช้ก่อน ดังนั้น กว่าที่วัคซีนจะกระจายทั่วถึงทุกคนเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตปกติคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี เป็นเหตุผลที่ทุกองค์กรมองว่าปี 65 เศรษฐกิจจึงจะมีโอกาสกลับมาฟื้นกลับมาสู่ปกติ (Back to Normal)
ในตลาดหุ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นไปก่อนวัคซีนผลิตออกมา เนื่องจากตลาดเงินตลาดทุนมีสภาพคล่องท่วมท้น โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ใช้เวลา 2 เดือนกลับมา เทียบกับเมื่อครั้งมีวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่ใช้เวลา 4 ปีกว่าจะฟื้นตัว
“2 ปีจะกลับมา Back to Normal กลุ่มที่จะกลับมาก่อน กลุ่มแรกเป็นกลุ่มใหญ่ ส่วนกลุ่มเล็กกว่าจะใช้เวลาที่ยาวกว่า เรามองภาพเป็น Nike ที่มีสิว เราลงเหว เรากำลังตะกายขึ้นอย่างทุลักทุเล ตราบใดที่ใช้นโยบายการคลังการเงิน โอกาสตกเหวจะยากขึ้น โอกาสเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงน่าจะไม่เห็น แต่โอกาสความหวังที่มีวัคซีนฟื้นเลย มีท่องเที่ยว น่าจะมากกว่า” นายวิน กล่าว
นายวิน กล่าวว่า สภาพคล่องในระบบไหลไปหาของที่มีประโยชน์มากที่สุด โดยในช่วง 1 ปีนี้มี 3 กลุ่มธุรกิจได้ประโยชน์ 1.ธุรกิจที่เชื่อมต่อเทคโนโลยี 2. Healthcare บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค ไมใช่แค่โรงพยาบาล 3. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร ที่เน้น foodtech มองแล้วไม่น่ามีกลุ่มไหนทดแทนได้ ทั้ง 3 sector ในไทยไม่ค่อยมี
ส่วนทองคำ มองว่าราคาทองคำไปต่อที่ 2,200-2,400 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์