ยอดขอ “บีโอไอ” ส่งเสริมลงทุน 6 เดือนแรก โต 7% มูลค่าทะลุ 1.5 แสนล้าน
ยอดขอ “บีโอไอ” ส่งเสริมลงทุน 6 เดือนแรก โต 7% มูลค่าทะลุ 1.5 แสนล้าน อุตสาหกรรมแพทย์เพิ่มแบบก้าวกระโดด หลังวิกฤต "โควิด"
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาวะการส่งเสริมการลงทุนช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 754 โครงการ เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 703 โครงการ
ขณะที่มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 158,890 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17% ซึ่งมีมูลค่ารวม 190,330 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และช่วงเดียวกันของปี 2562 มีโครงการขนาดใหญ่ด้านพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล แต่มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
สำหรับยอดขอรับการส่งเสริมส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 371 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 83,140 ล้านบาท คิดเป็น 52% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมทั้งหมด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์มีการยื่นขอรับการส่งเสริมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีการยื่นขอรับการส่งเสริมรวม 52 โครงการ เพิ่มขึ้น 174% มูลค่าเงินลงทุนรวม 13,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“ยอดคำขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากมาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่บอร์ดบีโอไอเห็นชอบเมื่อเดือนเมษายน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอย่างรวดเร็ว รองรับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้นภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19” น.ส.ดวงใจ กล่าว
ขณะที่ยอดขอรับการส่งเสริมในช่วง 6 เดือนของปี 2563 จำแนกตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 28,250 ล้านบาท ตามด้วยอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 15,300 ล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 13,510 ล้านบาท อุตสาหกรรมการแพทย์ 13,070 ล้านบาท และอุตสาหกรรมปิโตรและเคมีภัณฑ์ 4,380 ล้านบาท
ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 459 โครงการ เพิ่มขึ้น 5% มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 75,902 ล้านบาท ลดลง 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุด จำนวน 99 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนสูงสุดอยู่ที่ 22,636 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ตามด้วยจีนจำนวน 95 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 17,461 ล้านบาท และสิงคโปร์ จำนวน 55 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 10,624 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากสถิติภาวะการส่งเสริมการลงทุนช่วง 6 เดือนของปีนี้เป็นที่น่าสนใจว่า มีนักลงทุนรายใหม่ให้ความสนใจขอรับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติ โดยพบว่าเป็นการยื่นขอรับการส่งเสริมในโครงการใหม่ถึง 366 โครงการ คิดเป็น 49% ของจำนวนคำขอรับการส่งเสริมทั้งหมด มีเงินลงทุนรวม 42,520 ล้านบาท คิดเป็น 27% ของเงินลงทุนทั้งหมด และคำขอรับการส่งเสริมในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซีจำนวนทั้งหมด 225 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 85,480 ล้านบาท