“กสิกร” ตัดทิ้ง “ค่าธรรมาภิบาลเสื่อม” AOT หลัง “นิตินัย” เชิญพบ-ให้สัมภาษณ์เพิ่ม

“กสิกร” ตัดทิ้ง “ค่าธรรมาภิบาลเสื่อม” AOT หลัง “นิตินัย” เชิญพบ-ให้สัมภาษณ์เพิ่ม


บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้รับข้อมูลใหม่เกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขสัญญาดิวตี้ฟรีระหว่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กับกลุ่มคิง เพาเวอร์ จากที่ได้เข้าพบผู้บริหารของ AOT และการให้สัมภาษณ์ของ ดร นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ AOT กับข่าวหุ้นธุรกิจในรายการข่าวหุ้นเจาะตลาด (ภาคเฉพาะกิจวันที่ 6 สิงหาคม)”

โดยเรื่องขั้นตอนการพิจารณามีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นว่า AOT ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างถี่ถ้วน อีกทั้งการอนุมัติแกไขสัญญาดิวตี้ฟรีถือเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ ในการบรรเทาผลกระทบของคู่ค้าของ AOT ในตอนเหตุการณ์ปิดสนามบินในปี 2551

ส่วนเรื่องการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวผู้บริหาร AOT คาดว่าการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาเป็นปกติ(ช่วงก่อนCOVID-19) ในกลางปี 2566 เนื่องจากสายการบินต้องใช้เวลาอีก 1-2 ไตรมาสในการเพิ่มเที่ยวบิน แม้ว่า AOT และเห็นตรงกันว่าการต้นพบวัคซีน COVID19 จะเกิดขึ้นในปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 และการเข้าถึงวัคซีนดังกล่าวในวงกว้างอาจกินเวลาอีก 1-2 ไตรมาส

ส่วนเรื่องความเสียหายจากการเลิกสัญญาได้ทราบข้อมูลใหม่จากผู้บริหาร AOT ว่ากลุ่ม บริษัท คิง เพาเวอร์มีสิทธิตามสัญญาที่จะบอกเลิกจากเหตุผลความเสียหายทางธุรกิจที่เกิดขึ้น ต่อกลุ่มคิง เพาเวอร์จากนโยบายรัฐบาลในการปิดน่านฟ้าส่วนใหญ่ โดยที่กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ไม่ต้องถูกยึดเงินประกัน หากเกิดขึ้นจริง ประเมินว่า AOT อาจจะสูญเสียรายได้ ตลอดอายุสัญญาฯที่ 3.9 แสนล้านบาท (ตามเงื่อนไขเดิม)

การปรับวิธีการคำนวณ minimum guarantee คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะกลับมาเท่ากับปี 2562 ที่ 52 ล้านคน ในปี 2566 และจะขึ้นไปถึงระดับ 66 ล้านคนในปี 2569 ด้วย สมมติฐานนี้ ผลกระทบจากการปรับวิธีการคำนวณ minimum guarantee จะอยู่ที่ 1.33 แสน ล้านบาท สมมติฐานนี้ยึดตามการศึกษาของ IATA

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ การฟื้นตัวของจำนวนผู้โดยสารดีกว่าสมมติฐานนี้ ผลกระทบต่อประมาณการจะลดลง ดังนี้ 1) กรณีที่ จำนวนผู้ โดยสารกลับไปที่ 66 ล้านคน เป็นปี 2568 ผลกระทบจะอยู่ที่ 1.18 แสนล้านบาท และ 2) กรณีที่ จำนวนผู้โดยสารกลับไปที่ 66 ล้านคน เป็นปี 2567 ผลกระทบจะอยู่ที่ 9.9 หมื่นล้านบาท และ 3) กรณีที่ จำนวนผู้ โดยสารกลับไปที่ 66 ล้านคน เป็นปี 2566 ผลกระทบจะอยู่ที่ 7.9 หมื่นล้านบาท

มูลค่าสัญญาที่ลดลงหากมีการประมูลใหม่ คาดว่ามูลค่าสัญญาดิวตี้ฟรีจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญหากกลุ่มคิงเพาเวอร์บอกเลิกสัญญาฯ และ AOT ต้องจัดการประมูลขึ้นมาใหม่ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้มูลค่าธุรกิจดิวตี้ฟรีได้รับผลกระทบอย่างหนักจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ดังนั้นการที่ AOT เปลี่ยนเงื่อนไขในสัญญาจึงถือเป็นการรักษาผลประโยชน์ของ AOT และผู้ถือหุ้นอย่างเต็มที่ หากใช้ ราคาประมูลของผู้ชนะลำดับที่สองเป็นบรรทัดฐานมูลค่าสัญญามีโอกาสลดลงกึ่งหนึ่ง

บทบาทของ AOT ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เนื่องจาก AOT มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ความช่วยเหลือโดย AOT จึงช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก รายได้ จากนักท่องเที่ยวปัจจุบันคิดเป็น 13% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ และห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบการโดยตรงของ AOT และผู้ ประกอบการในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวมีการจ้างงานคิดเป็นสัดส่วนสูง

โดยปรับมุมมองเรื่องธรรมาภิบาล จากข้อมูลใหม่ที่ได้ตามรายละเอียดข้างต้น ได้ปรับมุมมองในเชิงธรรมาภิบาลต่อ AOT โดยเชื่อว่าทางคณะกรรมการบริหารของ AOT ได้ตัดสินใจแก้สัญญาดิวตี้ฟรีเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯ อย่างดีที่สุด ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากเช่นนี้

ปรับเพิ่มคำแนะนำจาก “ขาย” เป็น “ถือ” และราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 56 บาท จาก 45 บาทในบทวิเคราะห์ครั้งที่แล้ว การเพิ่มขึ้นของราคาเป้าหมายเกิดจากข้อมูลที่มีความชัดเจนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการแถลงการณ์ของ AOT (ในวันที่ 5 สิงหาคม 2563) และการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารระดับสูงกับสำนักข่าวหุ้น (วันที่ 6 สิงหาคม 2563) ซึ่งเชื่อได้ว่าบริษัทคิง เพาเวอร์ดิวตี้ฟรีและกลุ่มได้ปฏิบัติตามสัญญาการร่วมงานกับ AOT เป็นผลให้นำ CG discount ออกไป เป็นผลทำให้ราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้น 11 บาท

 

อนึ่งเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ทอท.ได้ออกแถลงการชี้แจงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติม กรณี บริษัท คิง เพาเวอร์ โดยในคำชี้แจงดังกล่าวได้ระบุว่า บทความ วิเคราะห์-วิจารณ์ ที่มีเผยแพร่อยู่ในปัจจุบันหลายบทความ ได้ทำการวิเคราะห์ -วิจารณ์อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะในประเด็นการวิเคราะห์-วิจารณ์ในด้านการสูญเสียรายได้ของ ทอท. ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่แต่เพียงด้านเดียว

โดยไม่ได้ครอบคลุมถึงมาตรการฯ ที่ทาง ทอท. ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยด้วยอย่างเท่าเทียมกัน และยังไม่ได้คำนึงถึงโอกาส ทางเลือกที่ผู้ประกอบการสามารถบอกเลิกสัญญา หรือผลกระทบต่อรายได้ ทอท. จากการถูกบอกเลิกสัญญา และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศโดยเฉพาะสภาวการณ์จ้างงานดังที่ได้กล่าวข้างต้น

ซึ่งในการนี้ บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ออกบทวิเคราะห์ดังกล่าวได้เข้าพบ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 เพื่อรับทราบข้อมูลที่ครบถ้วนและเข้าใจเหตุผลในทุกๆ ด้าน โดยทางผู้ออกบทวิเคราะห์ฯ ได้ตกลงจะออกบทวิเคราะห์ที่เป็นกลางและครอบคลุมถึงข้อมูลมิติต่างๆ ที่ได้รับเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้สาธารณชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิดต่อไป

Back to top button